กระดานชนวนอยู่ในความดูแลรักษาของกลุ่มพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตำบลบ้านโคก ภายในศูนย์วัฒนธรรมสายใยชุมชนและส่งเสริมอาชีพอำเภอหนองนาคำ บ้านหนองนาคำ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านโคก อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น
กระดานชนวนใช้สำหรับเขียนหนังสือในอดีต ทำด้วยหินชนวนสีดำ กว้าง 1 คืบ ยาว 2 คืบ หนา ๕ มิลลิเมตร ใส่กรอบไม้ กระดานชนวนแผ่นเดียว ทำได้ทุกอย่างตั้งแต่เขียน เรียน อ่าน ไม่ต้องพกกระดาษและตำราหนังสือเรียนมากเหมือนปัจจุบันการเขียนกระดานชนวน เขียนเสร็จแล้วก็ต้องลบทิ้ง พอเขียนใหม่ก็ต้องลบทิ้งอีก ดังนั้น การเขียนกระดานชนวน เขียนด้วยดินสอหินซึ่งทำด้วยหินชนวนเช่นกัน เพื่อเอาดินสอหินเขียนลงบนกระดานชนวนเป็นเส้นสีขาวๆ เมื่อเขียนเสร็จส่งให้ครูตรวจเรียบร้อยแล้วนักเรียนจะนำมาลบด้วยน้ำเพื่อเรียนวิชาอื่นต่อไปหรือฝึกเขียนจนกว่าจะเขียนเป็น เขียนแล้วลบ เขียนแล้วลบ ฉะนั้น เวลาไปโรงเรียนนักเรียนต้องพกขวดน้ำเล็กๆ กับผ้าผืนน้อยไว้สำหรับลบบกระดานชนวนด้วย บางครั้งขี้เกียจถือน้ำก็จะใช้ใบพืชชนิดหนึ่งในการลบกระดานชนวน ได้แก่ ใบหูเสือ บางคนก็ใช้น้ำบ่อน้อย(น้ำลาย) ร่วมกับมือลบก็มี
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ได้อธิบายไว้ว่า “กระดานที่ใช้เขียน มีสองอย่าง สำหรับ นักเรียนชั้นแรกหัดเขียน ก ข เรียกว่า กระดานดำ ทำด้วยไม้กระดานกว้างประมาณ ๑ คืบ ยาวประมาณ ๒-๓ ศอก หนาราว ๒ กระเบียด ด้านที่ใช้เขียนหนังสือ ไสกบ จนเกลี้ยงเรียบ ทาด้วยเขม่าหม้อ กับน้ำข้าว ผึ่งแดดให้แห้ง เมื่อจะลบตัวหนังสือ ที่เขียนด้วยดินสอขาว ใช้น้ำลบทำให้ กระดานเปียกฉะนั้นจึงต้องหยุด ตากกระดาน ให้แห้งเสียก่อน แล้วจึงเรียนต่อไป เด็กที่ขี้เกียจเรียน จะแกล้งเอาน้ำลบมากๆ กระดานจะได้แห้งช้า มีที่สังเกตว่า กระดานของเด็กที่ขี้เกียจ สีดำจะจางเร็ว จนเห็นเนื้อกระดาน เรียกว่ากระดานแดง
กระดานชนวนอีกชนิดหนึ่ง สำหรับนักเรียนชั้น ๓ ทำด้วย ไม้ทองหลาง หรือไม้งิ้วทำให้เป็นแผ่นกระดานกว้างศอก ยาวศอกคืบ ที่ต้องใช้ไม้ดังกล่าว ก็เพื่อจะให้ ทารัก ติดแน่นดี (ขี้รัก ผสม ขี้เถ้าใบตองแห้ง เรียกว่า สมุก ทาให้เป็นสีดำ) ต่อจากนั้น ใช้ผงกระเบื้องถ้วยที่ป่นละเอียด คลุกกับน้ำรัก ทาฉาบอีกครั้งหนึ่ง ให้เรียบเสมอกัน แล้วขัดเงาด้วยหิน หรือเมล็ดสะบ้า เมื่อเรียบร้อยดีแล้ว ก็ทำกรอบ
ดินสอที่ใช้เขียนกับกระดานชนวน ใช้ดินสอพองคือเอาดินสอพองแช่น้ำให้เปียก หรือโขลกให้แหลกพรมน้ำพอให้ปั้นได้ ทำเป็นแท่ง ขนาดหัวแม่มือ ยาวไม่เกินคืบ ด้วยเหตุที่ ดินสอพองถูกน้ำแล้วเหนียว จึงต้องคั้นน้ำใบตำลึง พรมที่กระดาน สำหรับปั้นดินสอเสียก่อน ไม่เช่นนั้น ดินสอพองก็จะเหนียวติดมือ ปั้นยาก เสร็จแล้วตากให้แห้ง ก็ใช้เขียนได้”
การได้มานายอำนาจ ศรีบุญวงศ์ บ้านเลขที่ 16 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านโคก อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น เล่าว่า เป็นมรดกตกทอดมาจากบิดา มีการใช้กระดานชนวนเรียนจนถึงปีพ.ศ. 2514 ก็เลิกใช้ ตนเองเป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านโคก ได้เข้าร่วมประชุมการจัดตั้งกลุ่มพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และขอรับบริจาคเครื่องมือเครื่องใช้โบราณ เพื่อเก็บรวบรวมและจัดแสดงไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตำบลบ้านโคก ตนเองเห็นว่ามีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักและจัดเก็บรักษาอย่างดีจึงได้ร่วมบริจาคกระดานชนวน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน2552