ด้วยอีสานเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นหลัก จึงมีการสร้างสถานที่เก็บข้าว คนอีสานจะเรียกว่า "เล้า" หรือคนไทยจะเรียกว่า "ยุ้งฉาง" ส่วนใหญ่จะทำด้วยไม้ แล้วมุงด้วยสังกะสี เก็บข้าวไว้ตลอดทั้งปี
วันเอาข้าวขึ้นเล้า นิยมทำวันจันทร์ พฤหัสบดี ศุกร์ เวลาบ่าย ๓ โมง ถึงบ่าย ๕ โมง มีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้
๑. เอาเทียน ๕ คู่ ดอกไม้ ๕ คู่ ใส่ขัน
๒. กระบุงเปล่า ๑ ใบ
๓. หาขัน หรือกระบอกใส่ข้าว (ขวัญข้าว) ๑ อัน
๔. พ่อบ้าน หรือหัวหน้าครอบครัวเอาผ้าขาวม้าพาดเฉวียงบ่า ถือกระบุง และขันดอกไม้พร้อมทั้งขันหรือกระบอก สำหรับใส่ขวัญข้าวไปยังลานข้าว จากนั้นว่าคาถาเรียกขวัญข้าว เมื่อไปถึงลานข้าว และได้เวลาแล้วพ่อบ้านเอาผ้าขาวม้าเฉวียงบ่า นั่งคุกเข่าหรือนั่งยองๆ ก็ได้ ไม่ต้องกราบหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ยกขัน ๕ ขึ้นว่า นะโม ฯลฯ ๓ จบ แล้วให้ว่าคาถาเรียกขวัญข้าวดังนี้ อุกาสะ อุกาสะ ผู้ข้าขอโอกาส ราธนาคุณแม่โพสพให้เมืออยู่เล้า คุณขวัญข้าวให้เมืออยู่ฉาง ภะสะพะโภชะนัง มะหาลาภัง สุขัง โหตุ"
แล้วเอาขันหรือกระบอกที่เตรียมไปตักขวัญข้าวนั้น ตักเอาขวัญข้าวใส่กระบุง อุ้มเดินกลับบ้าน เอาขึ้นเล้าไปวางไว้บนขื่อด้านหลังสุดตรงข้ามกับประตูเข้าเล้า หาอะไรครอบไว้เพื่อไม่ให้หนู หรือนกไปกินได้ ข้าวที่เก็บได้นั้นคือ "ขวัญข้าว" ซึ่งเราจะต้องเอามาผสมกับข้าวปลูก เพื่อทำพันธุ์ในปีต่อไป
สู่ขวัญข้าว
เมื่อขนข้าวขึ้นเล้าแล้ว บางคนก็สู่ขวัญข้าวในวันนั้น บางคนก็เอาวันหลัง ที่นิยมทำกันก็คือ วันจันทร์, พูธ, พฤหัสบดี, วันศุกร์ หรือวันอาทิตย์ก็ได้ ไม่นิยมทำกันในวันอังคาร วันเสาร์ วันจม และวันเดือนดับ ในวันสู่ขวัญข้าวนั้นให้อัญเชิญเอาขวัญข้าวที่เราเก็บใส่ขัน หรือกระบอกไว้ดังกล่าวนั้นมาใส่ในพาขวัญ สู่ขวัญแล้วจึงนำไปเก็บไว้ยังที่เดิม