พระธาตุบ้านดู่ เป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่สุด ตั้งอยู่ที่บ้านดู่ หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านดู่อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ องค์พระธาตุสร้างด้วยอิฐเผาและศิลาแลงไม่ทราบว่าสร้างขึ้นในสมัยใด
เดิมทิศเหนือขององค์พระธาตุจะเป็นคูเมือง มีมเหศักดิ์หลักเมืองฉลองและกุดดั้งเดิม ต่อมาในปี ๒๔๑๑ เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน โรคห่า (อหิวาตกโรค) ชาวบ้านล้มตายเป็นจำนวนมาก นำศพไปฝังในป่าช้าจนไม้ในป่าช้าเหลือง วันหนึ่งมีชาวบ้านไล่ตามกวางตัวหนึ่ง ในขณะนั้นมีพระภิกษุบิณฑบาตพบเข้า กวางตัวนั้นได้วิ่งไปถึงมเหศักดิ์หลักเมืองแล้วหายวับไปกับตาชาวบ้าน ทำให้ทุกคนพากันตื่นกลัวอพยพครอบครัวมาอยู่ทางทิศใต้ ซึ่งมีต้นประดู่ใหญ่อายุ ๗๐ – ๘๐ ปี อยู่แล้วคือบ้านดู่ในปัจจุบัน เมื่อย้ายบ้านแล้วก็ย้ายวัดมาด้วย องค์พระธาตุจึงไม่ได้อยู่ในวัดดังที่เห็นในปัจจุบันนี้
ผู้นำในการย้ายหมู่บ้านครั้งนั้น คือ พ่อใหญ่หลวงเมือง ซึ่งเป็นช่างตีเหล็ก ร่างกายสูงใหญ่บึกบึน มีคาถาอาคมและไสยศาสตร์ กับพ่อใหญ่โม ซึ่งเป็นช่างปั้นหม้อ ซึ่งต่อมาทั้งสองคนก็เป็นผู้นำของหมู่บ้าน
พระธาตุแม้จะเก่าแก่ทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่ยังมีความศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านให้ความเชื่อถือและเคารพศรัทธา ในวันเพ็ญเดือน ๖ ของทุกปี ประชาชน หมู่บ้านใกล้เคียงก็จะมาทำบุญตักบาตรและจุดบั้งไฟ เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลและให้มีความสุขตลอดไป