ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ ตั้งอยู่เลขที่ ๙ หมู่ที่ ๑๓ บ้านนาโพธิ์ ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการก่อตั้งขึ้นมาโดยมี นางประคอง ภาสฐิติ เป็นประธานกลุ่ม เพือเป็นแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าไหม ตลอดจน เป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของอำเภอนาโพธิ์ เพราะอำเภอนาโพธิ์ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเสริม(ทอผ้าไหม)โดยถ่ายทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษสู่รุ่นหลาน มีผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอได้แก่ผ้าไหมมัดหมี่ ปี 2524 ได้รวมกลุ่มฯ และได้รับเป็นสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ได้รับรางวัลจากการประกวดผ้าไหมระดับภาคตั้งแต่ ปี 2534 จนถึงปี 2555รวม 47 รางวัล ปี 2542 ส่วนราชการให้การสนับสนุนเนื่องจากอยู่ในพื้นที่โครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จึงสร้างศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญา แก่กลุ่มเยาวชนอื่นๆในพื้นที่และต่างพื้นที่ และปัจจุบันผ้าไหมมัดหมี่ยังได้พัฒนาการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าไหมหลากหลายชนิดตามความต้องการของตลาด เช่น เนคไท,กระเป๋าการทอผ้ามัดหมี่ของชาวบุรีรัมย์ใช้ลายเก่าแก่ดั้งเดิมที่สืบทอดต่อๆ กันมา และมีการพัฒนาลายใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อความแปลกใหม่และสวยงาม เหมาะกับความต้องการของตลาด แต่ไม่ว่าจะพัฒนาลายไปมากน้อยเพียงใด ลายดั้งเดิมยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญของลายประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นอยู่นั่นเอง จากการสอบถามผู้สูงอายุที่มีอาชีพทอผ้าในท้องถิ่นถึงที่มาของลายผ้า พบว่าต้นแบบมาจากพืช ส่วนของต้นพืช สัตว์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน ซึ่งบางอย่างสูญหายไปแล้ว เนื่องจากไม่มีการสืบทอด แต่ยังปรากฏต้นเค้าอยู่บนลายมัดหมี่
ผ้ามัดหมี่ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- มัดหมี่ธรรมดา เดิมนิยมทอเป็นผ้าซิ่น เน้นการเพิ่มลวดลายที่ตีนซิ่นให้สวยงาม ปัจจุบันมีผู้นิยมนำผ้ามัดหมี่ไปตัดเป็นเสื้อผู้ชายและผู้หญิง การมัดหมี่จึงนิยมมัดเชิงทั้ง 2 ด้านเหมือนกัน เพื่อประโยชน์ในการใช้สอยได้อย่างเต็มที่
- มัดหมี่ตีนแดง หรือชาวบ้านเรียกว่า ซิ่นตีนแดง หรือ ซิ่นหมี่รวด เป็นผ้าเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชาวนาโพธิ์ พุทไธสง (อำเภอนาโพธิ์เดิมขึ้นกับอำเภอพุทไธสง) ไม่มีในท้องถิ่นอื่น หัวซิ่นและตีนซิ่นจะย้อมเป็นสีแดง ตรงกลางเป็นพื้นดำ มัดหมี่เล่นสีเหลือง แดง ขาว มีเขียวปนบ้าง ลายที่ทอส่วนใหญ่เป็นลายเก่าดั้งเดิม การทำซิ่นตีนแดงมีความยุ่งยากกว่ามัดหมี่ชนิดอื่นจึงไม่ค่อยนิยมทำกันและเกือบจะสูญหายไป แต่ได้มีการนำซิ่นชนิดนี้ไปแสดงในงานนิทรรศการสมบัติอีสานใต้ ครั้งที่ 2 และทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ได้ใช้ซิ่นชนิดนี้สำหรับนักแสดงนาฏศิลป์ตั้งแต่นั้นมา และมีการร่วมรณรงค์ให้หันมาผลิตและใช้แต่งกายในงานประเพณีสำคัญ เช่น บุญบั้งไฟ และลอยกระทง อีกครั้ง จึงทำให้ซิ่นตีนแดงกลับมาเป็นที่นิยมและสร้างรายได้ให้กับชุมชนนาโพธิ์อย่างงดงาม
- มัดหมี่คั่นข้อ ชาวบ้านเรียก ซิ่นคั่น เป็นการทอมัดหมี่ลายเล็ก ๆ สลับกับไหมสี หรือ ไหมควบ นิยมทำลายนกน้อย นาคน้อย กีบบักบก ลายโคมต่าง ๆ นิยมใช้ในหมู่ผู้หญิงสูงอายุ (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : 215-218)
ลายและต้นแบบต่าง ๆ ของมัดหมี่มีดังนี้
ลายบักจับ (กระจับ) ต้นแบบมาจากฝักของกระจับที่ขึ้นในน้ำ
ลายโคมห้า ลายโคมเจ็ด ลายโคมเก้า ลายโคมสิบเอ็ด ลายโคมสิบสาม ลายโคมสิบเก้า ลายโคมต่าง ๆ เหล่านี้ ต้นแบบมาจากโคมที่ชาวอีสานนิยมปล่อย หรือจุดเวลาออกพรรษา เช่น มัดหมี่ห้าลำ เรียกว่า มัดหมี่เจ็ดลำ เรียกว่า โคมเจ็ด เป็นการเรียกตามมัดหมี่ที่มัด
นอกจากนี้ยังมีลายดอกแก้วหรือลายหน้าเสือ มีต้นแบบมาจากต้นดอกแก้วหรือส่วนหน้าของเสือ ลายแมงสีเสียด เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยในน้ำ ตัวเล็ก มีปีก ชาวบ้านนิยมจับไปทำอาหาร ลายขอก่องข้าว ต้นแบบมาจากขอที่ใช้แขวนก่องข้าวในสมัยโบราณ ด้านบนใช้เชือกผูกแขวนไว้กับหลังคาห้องครัว ด้านล่างใช้แขวนก่องข้าว
ลายแมงมุม ลายกอตะไคร้ ลายขาเปีย ต้นแบบมาจากขาเปียซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการกรอฝ้ายออกจากไนที่ใช้ในสมัยโบราณ
ลายงูเหลือม ลายขอแคม้า ต้นแบบมาจากแคม้า แคม้า เป็นคำภาษาถิ่นอีสาน ใช้เรียก บังเหียนม้า ลายกีบบักบก ต้นแบบมาจากเมล็ดต้นจบกเวลาผ่าซีก
ลายเอี้ยเยี่ยวควายหรือลายง่องแง่งเยี่ยวควาย ต้นแบบมีที่มาจากรอยควายตัวผู้เดินเยี่ยว เป็นลายทางขวางนิยมทอเป็นหมี่ซิ่นคั่นข้อ โดยใช้ลายกีบบักบกประกอบ
ลายนาคเกี้ยว ต้นแบบมาจากบันไดโบสถ์หรือบันได้วัดในสมัยโบราณ ซึ่งมักประดิษฐ์เป็นรูปตัวนาค โดยหางนาคจะทอดลงมาจากตัวโบสถ์ หัวนาคจะอยู่บันไดขั้นสุดท้ายของวัดหรือโบสถ์ เป็นต้น
ลายต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นลายมัดหมี่ที่ทอกันมาแต่ดั้งเดิม ปัจจุบันได้ถูกนำมาประยุกต์ใหม่ หรือไม่ก็ไม่นิยมทำกันแล้วมีรายละเอียดเกี่ยวกับลายและที่มา (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : 194-197)
ปัจจุบันหมู่บ้านทอผ้าไหมอำเภอนาโพธิ์เป็นแหล่งทอผ้าไหมโดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ ได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือในด้านการพัฒนาฝีมือให้ได้มาตรฐานทั้งรูปแบบ วิธีการผลิต ลวดลาย การให้สี จากศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สำหรับผ้าไหมที่ผลิตมีหลายประเภท ทั้งผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง ชาวบ้านเรียก ผ้าตะโรง ผ้าหางกระรอก ชาวบ้านเรียก ผ้าควบ ผ้าชนิดนี้มีความพิเศษและพิถีพิถันกว่าผ้าชนิดอื่น ใช้เส้นไหมเครือเดียวกันทอไม่มีสีอื่นคั่น เป็นผ้ามีราคาและคุณค่ามาก นิยมใช้ในงานบวชนาค (ให้นาคนุ่ง) และใช้คลุมโลงศพ นอกจากนี้ยังมีผ้าพื้นเรียบ ผ้าลายลูกแก้ว ผ้าซิ่นก่วย และผ้ามัดหมี่