การโกนผมไฟ เรียกว่า อารีเบอร์จูกูร์ นิยมทำกันช่วงเวลาเช้าของวันที่กำหนด และถือว่าเป็นการปฏิบัติตามพระวจนะของพระศาสดา ทางศาสนาอิสลาม หมอตำแยซึ่งเป็นผู้ทำคลอดเป็นประธานในการประกอบพิธีบนเรือนของพ่อแม่เด็ก ซึ่งถือว่าถ้าเด็กได้ทำพิธีการโกนผมไฟแล้ว เมื่อเติบใหญ่จะมีความเจริญก้าวหน้า มีฐานะมั่นคง และจิตใจหนักแน่นเข้มแข็งในอนาคต
เมื่อเด็กคลอดได้ 7 วัน จะทำพิธีโกนผมไฟ ตั้งชื่อ และทำพิธีเชือดสัตว์ ในการตั้งชื่อเพื่อเป็นมงคลจะตั้งชื่อเป็นภาษาอาหรับ โดยใช้นามของพระศาสดา หรือคำที่มีความหมายดีงาม เช่น มูฮำมัด หะมัดเป็นต้น สำหรับการเชือดสัตว์หรือเรียกเป็นภาษาอาหรับว่า “อะกีเก๊าะฮ” นั้น ถ้าเป็นลูกชายจะเชือดแพะหรือแกะ 2 ตัว ถ้าเป็นผู้หญิงจะเชือดแพะหรือแกะ 1 ตัว การเชือดสัตว์ไม่จำเป็นต้องทำทุกครอบครัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะของครอบครัวด้วย จุดมุ่งหมายของการเชือดสัตว์ก็เพื่อพลีต่อพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานทารกให้เกิดมา และให้การคุ้มครองทารก หลังจากเชือดสัตว์แล้วก็แบ่งเนื้อสัตว์ที่เชือดให้กับญาติพี่น้อง บริจาคเป็นทาน และไว้รับประทานเอง
การโกนผมไฟจะให้ผู้ที่อาวุโส เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ขริบผมหรือตัดผมใส่ในใบบอน, ผลมะพร้าวอ่อน หรือน้ำเต้าที่สลักลวดลายสวยงาม แล้วนำไปฝัง ในพิธีโกนผมไฟอาจจะมีพิธีเปิดปากเด็กด้วย โดยให้ผู้ใหญ่ที่ชาวบ้านเคารพนับถือและพูดเก่ง รักษาคำพูด มีความรู้ทางศาสนา เป็นผู้ทำพิธี สิ่งที่ต้องใช้ในการทำพิธีเปิดปากมีน้ำตาลกรวด น้ำซัมซัม (น้ำจืดที่ผุดขึ้นกลางทะเลทรายซึ่งนำมาจากเมืองมักกะฮ) องุ่นแห้ง อินทผลัม ของทั้งหมดนี้นิยมของที่ได้จากมักกะฮ นอกจากนี้มีเกลือ มะนาว และแหวน ผู้ทำพิธี
จะนำแหวนไปแตะที่ริมฝีปากเด็ก และหยิบของเปรี้ยว เค็ม หวาน แตะที่ริมฝีปาก เพื่อให้เด็กได้ลิ้มรสอาหาร และทำความชุ่มคอแก่เด็กด้วย
พิธีโกนผมไฟในหมู่ที่ 6 (บ้านวังพระเคียน) ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล ได้มีการสืบทอดกันมาช้านานจากรุ่นสู่รุ่น และยังคงมีการปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน นับเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามควรแก่การส่งเสริม อนุรักษ์ ให้คงอยู่สืบไป