ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 46' 57.3298"
14.7825916
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 44' 38.2819"
99.7439672
เลขที่ : 15175
โสร่งไหมบ้านทุ่งแสม
เสนอโดย ว่าที่ ร.ต.สุพัฒน์ หอมสุวรรณ วันที่ 14 มกราคม 2554
อนุมัติโดย สุพรรณบุรี วันที่ 30 มีนาคม 2555
จังหวัด : สุพรรณบุรี
1 231
รายละเอียด
บริเวณที่ตั้งบ้านทุ่งแสมในปัจจุบัน แต่เดิมเป็นป่าผืนใหญ่มีอาณาเขตติดต่อกับป่าอำเภอหนองหญ้าไซ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๖-๒๕๐๗ ได้มีราษฎรจากบ้านทุ่งบ่อ หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านคู อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ประมาณ ๑๔ ครอบครัว สมาชิกเกือบร้อยคนได้ อพยพมาจับจองที่ทำกิน เนื่องจากในขณะนั้นบ้านทุ่งบ่อประสบปัญหาภัยแล้งติดต่อกันหลายปี หลังจากเดินทางมาตั้งหลักปักฐานแล้ว ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ราษฎรกลุ่มนี้บางส่วนที่เคยปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าพื้นเมือง ด้วยกี่พุ่งจากบ้านเดิม เกิดความคิดที่จะปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการทอผ้าเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของถิ่นกำเนิด ให้ลูกหลานได้รู้จักและ ยังสามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ด้วย ในครั้งแรกได้ปลูกหม่อนคนละงานสองงาน โดยเอาพันธุ์หม่อนมาจาก บ้านเดิม ส่วนกี่พุ่งก็ตัดไม้ในป่าสร้างกันเอง เมื่อได้รังไหมออกมา ก็ต้มและสาวไหมเป็นเส้นเพื่อเอามาทอผ้าใช้เองบ้าง ขายบ้าง หรือแบ่งกันใช้ในหมู่ญาติพี่น้อง ผ้าที่ทอได้ส่วนใหญ่จะเป็น ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าโสร่ง และผ้าขาวม้า นับจากนั้นเป็นต้นมาบ้านทุ่งแสมได้เกิดอาชีพเสริมควบคู่กับการทำอาชีพไร่อ้อย มันสำปะหลัง และไร่ข้าวโพด ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๗ ราคาพืชผลทุกชนิดตกต่ำมาก ขณะนั้นนางบุญช่วย กรอบไธสง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน จึงได้คิดนำเอาวิธีการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมและการทอผ้าที่ชาวบ้านมีความรู้ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มาพัฒนาเป็นอาชีพหลัก และได้ติดต่อขอความร่วมมือจากสำนักงานเร่งรัด พัฒนาชนบท (รพช.) และคัดเลือกเอาชาวบ้านจำนวน ๕ คน ไปศึกษาเรื่องการเลี้ยงไหมที่ศูนย์วิจัย หนอนไหม จังหวัดนครราชสีมา และเรื่องการทอผ้าเพื่อเพิ่มรายได้ และการทำเป็นอาชีพหลัก ในระยะเริ่มต้นของการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมสาวไหม ชาวบ้านทุ่งแสมยังประสบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย เนื่องจากยังขาดประสบการณ์ และความชำนาญ ไหมเป็นโรคตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือบางครั้งก็ได้รังไหมเป็นจำนวนน้อย ไม่คุ้มกับการลงทุน เกษตรกรที่ผลิตรังไหมในรุ่นแรกต้องประสบปัญหากับการขาดทุนและเป็นหนี้ ต่อมาได้มีนักวิชาการเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจนสถานการณ์การเลี้ยงไหมดีขึ้นตามลำดับและได้กลายเป็นอาชีพหลักของหมู่บ้านทุ่งแสมมาจนถึงปัจจุบันในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ชาวบ้านทุ่งแสมที่ทอผ้า ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเครือข่ายทอผ้าปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง กับโรงงานสาวไหมและผู้ทอผ้า เพื่อการส่งออก เป็นผลให้ราคารังไหมอยู่ในเกณฑ์ที่ยุติธรรม แต่โรงงานอุตสาหกรรมก็พยายามสลายกลุ่มเครือข่ายเพื่อผลทางธุรกิจ โดยยื่นเงื่อนไขพิเศษต่างๆให้กับสมาชิกกลุ่มเครือข่ายเพื่อจูงใจให้นำรังไหม ไปขายโดยตรงกับโรงงานแต่สมาชิกส่วนใหญ่ปฏิเสธและยืนยันจะขายในนามของกลุ่มเครือข่ายเท่านั้น ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ได้มีการกระจายความรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไปยังอำเภอเลาขวัญ อำเภอบ่อพลอย อำเภอหนองปรือ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอด่านช้าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยประมาณกันว่าในขณะนั้นมีสมาชิกผลิตรังไหม ในเครือข่ายประมาณพันครอบครัว มีเนื้อที่ปลูกหม่อนประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไร่ ผลจากการขยายเครือข่ายอย่างรวดเร็วมีพื้นที่ครอบคลุม ๔ จังหวัด จึงทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเครือข่ายและกลุ่มสมาชิก ทำให้โรงงานที่พยายาม สลายกลุ่มเครือข่ายอยู่ตลอดเวลาจนประสบความสำเร็จ กลุ่มเครือข่ายถูกตัดแบ่งสมาชิกไปร้อยละ ๙๐ และโรงงานได้เข้าไปซื้อรังไหมจากเกษตรกรโดยตรง นางบุญช่วย กรอบไธสง ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้พยายามอธิบายและชี้แจงให้สมาชิกที่เหลือประมาณ ๑๐๐ ครอบครัว รวมกลุ่มให้ทีความเหนียวแน่น อย่าได้ผลิตรังไหมอย่างโดดเดี่ยวและให้รู้เท่าทันกับสถานการณ์ไหมไทย รวมถึงเล่ห์เหลี่ยมของผู้ประกอบการโรงงานสาวไหม ซึ่งผลจากความพยายามได้ทำให้กลุ่ม เครือข่ายทอผ้าบ้านทุ่งแสม ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากหน่วยงานของทางราชการและเอกชน โดยนางบุญช่วย กรอบไธสง ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการไหมแห่งชาติ ในนามตัวแทนกลุ่ม เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทั้งประเทศ ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าไหมบ้านทุ่งแสมมีกี่กระตุก ๓๐ หลัง การทอผ้ายังคงทำกันในลักษณะอาชีพเสริม โดยใช้เวลาว่างจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เมื่อสมาชิกทอผ้าได้แล้ว ทางเครือข่าย จะเป็นผู้ดำเนินการจัดจำหน่าย ประมาณเดือนตุลาคม - ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ กลุ่มเครือข่ายได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนชุมชน ธนาคารออมสิน จัดฝึกอบรมการทอผ้าขึ้นสองรุ่น รุ่นแรกเป็นการอบรมการทอผ้าขั้นพื้นฐาน รุ่นที่สอง อบรมเพิ่มทักษะการทอผ้าสำหรับคนที่ประกอบอาชีพอยู่แล้ว และจัดให้มีการทัศนศึกษา ดูงานการทอผ้าที่จังหวัดสุรินทร์ ผลที่เกิดขึ้นในรุ่นที่หนึ่ง มีเยาวชนและเด็กนักเรียนมาเข้ารับการอบรมจำนวนมาก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่อาชีพทอผ้า และสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าให้ยั่งยืนต่อไป จากการดำเนินงานของกลุ่มที่ผ่านมา ได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณมากมาย อาทิ - รางวัลผู้นำอาชีพก้าวหน้า (สิงห์ทอง) กระทรวงมหาดไทย ปี ๒๕๓๐ - รางวัลการประกวดการเพิ่มผลผลิตไหมพันธุ์ไทยระดับประเทศ อันดับ ๒ พร้อมเงินรางวัล ๔,๐๐๐ บาท - รางวัลการประกวดผลงานดีเด่นเกี่ยวกับไหม รางวัลที่ ๑ ประเภทการเพิ่มผลผลิตของพันธุ์ไหมลูกผสม จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ปี ๒๕๓๒ - รางวัลเข็มเชิดชูเกียรติ "กองทุนทองคำ" จากสำนักนายกรัฐมนตรี ปี ๒๕๓๓ - ประกาศเกียรติคุณ "ผู้นำกลุ่มส่งเสริมอุตสาหกรรมเลี้ยงไหมดีเด่น" จากสำนักนายกรัฐมนตรี ปี ๒๕๓๓ - ประกาศรับรองสินค้าไหมมีคุณภาพมาตรฐานสินค้าของดีเมืองสุพรรณบุรี ปี ๒๕๔๕ -ประกาศเกียรติคุณ นางบุญช่วย กรอบไธสง ในฐานะผู้รู้ภาคกลาง สาขาวิชาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้า จากสำนักงานกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม ธนาคารออมสิน ปี ๒๕๔๕ - ประธานกลุ่ม (นางบุญช่วย กรอบไธสง) ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการไหมแห่งชาติ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ ๒๕๔๒-ปัจจุบัน
สถานที่ตั้ง
กลุ่มทอผ้าบ้านทุ่งแสม
เลขที่ 628 หมู่ที่/หมู่บ้าน 9
ตำบล หนองขาม อำเภอ หนองหญ้าไซ จังหวัด สุพรรณบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
กลุ่มทอผ้าบ้านทุ่งแสม
บุคคลอ้างอิง นางบุญช่วย กรอบไธสง
เลขที่ 628 หมู่ที่/หมู่บ้าน 9
รหัสไปรษณีย์ 72240
โทรศัพท์ 08-41454814
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่