ประวัติวัดสบสวรรค์
วัดสบสวรรค์ตำบลโพธิ์สามต้นอำเภอบางปะหันจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตั้งอยู่ริมฝั่งขวาแม่น้ำลพบุรีวัดนี้เป็นวัดโบราณ เก่าแก่ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีราว พ.ศ. 2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2305 มีเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวาและมีธรณีสงฆ์ 5 แปลงเนื้อที่ 21 ไร่ 1 งาน 32 ตารางวา
มีเรื่องเล่ากันต่อ ๆ มาว่าเจ้าหญิงในราชวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่งเสด็จประพาสน่านน้ำลพบุรีโดยทางชลมารคเรือพระที่นั่งเกิดอุบัติเหตุล่มลงด้วยกฏมณเฑียรบาลที่ว่าใครจะแตะต้องพระวรกายเจ้าหญิงมิได้ดังนั้น จึงไม่มีใครช่วยเหลือได้เป็นเหตุให้เจ้าหญิงต้องสิ้นพระชนม์ชีพลงในแม่น้ำ พระศพได้ลอยมาติดอยู่ ณ ปากน้ำ เจ้าพนักงานค้นหาไปพบพระศพห่างจากที่เรือล่มราว 40 เส้น ซึ่งมีราษฏรหมู่หนึ่งเรียกตนเองว่า " ลาว" ตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่บริเวณนั้นราษฏรคนหนึ่งมาพบพระศพ จึงแจ้งให้เจ้าพนักงานทราบด้วยความชอบอันนี้ราษฏรคนนั้นได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาท้ายน้ำ" และหมู่บ้านนั้นเรียกว่า บ้านลาว มาจนทุกวันนี้ เชื้อสายของพระยาท้ายน้ำก็ยังปรากฏอยู่
ส่วนพระศพนั้น ได้อัญเชิญขึ้นถวายพระเพลิง ณ ที่ตรงนั้น และเพื่อเป็นอนุสรณ์ จึงได้โปรดให้สร้างวัดขึ้น ณ ที่ถวายพระเพลิงพระศพ ชื่อว่าวัดศพสวรรค์ปากน้ำตรงนั้นชาวบ้านเรียกกันว่า ปากน้ำประสบบ้างพบศพ บ้างโพสพบ้าง ดังนี้
เมื่อพ.ศ.2310 พม่ายกทัพมารุกรานไทยไทยได้เสียอิสรภาพแก่พม่าพม่าเอาไฟเผาปราสาทราชมณเทียรสถาน วัดวาอารามและบ้านเรือนราษฏรพินาศหมด วัดนี้ก็ถูกทำลายไปด้วย เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพเข้าขับไล่พวกพม่าให้ถอยออกไปแล้ว ราษฏรที่หนีภัยสงครามครั้งนั้นก็ทยอยกลับมาทำมาหากินอย่างเก่า และได้สร้างวัดขึ้นใหม่แต่คงใช้พื้นที่เดิมถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระภิรมย์ราชาฯ ซึ่งเป็นชาวบ้านม่วง ได้มาสร้างพระอุโบสถขึ้นหนึ่งหลังโดยนำเอาช่างจีนมาสร้างเมื่อเสร็จแล้วพวกจีนเหล่านั้นไม่กลับเข้าตั้งภูมิลำเนาอยู่ข้างวัดสิงห์สืบเชื้อสายมาถึงปัจจุบัน และหมู่บ้านนั้นเรียกว่าบ้านเจ๊กจนทุกวันนี้
ต่อมามีคหบดีคนหนึ่งชื่อ นายสน เป็นคนมั่งคั่งในสมัยนั้นได้สร้างเสนาสนะต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจนครบบริบูรณ์นับว่าวัดนี้เจริญถึงขั้นที่สุดราว พ.ศ.2440 แต่หลังจากนั้นมาวัดเริ่มทรุดโทรมโดยลำดับ เสนาสนะ ก็ปรักหักพังร่อยหรอลงไปทุกที จนถึงเกือบจะเป็นวัดร้างในช่วง พ.ศ.2450 เพราะสิ่งต่างๆ ที่เหลือยากที่จะอาศัยใช้บังแดดและฝนพระภิกษุบิณฑบาตได้ไม่พอฉัน
ครั้นกาลผ่านมาถึง พ.ศ.2480 บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเห็นความจำเป็นของวัดว่า เป็นที่บำเพ็ญการกุศลโดยไม่ต้องไปบำเพ็ญที่วัดไกล ๆจึงพร้อมใจกันสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดและเรียกขานว่าวัดสบสวรรค์มาทุกวันนี้
วัดสบสวรรค์ เป็นที่บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนกิจตามประเพณีต่าง ๆ ของชาวบ้านหมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 7 ของตำบลโพธิ์สามต้น ชาวพุทธของวัดสบสวรรค์ได้ดูแลพระภิกษุสามเณร และอุปถัมภ์บำรุงวัดตลอดมา ได้ร่วมกันกับท่านเจ้าอาวาสและพระภิกษุสามเณรสร้างอาคารเสนาสนะที่มั่นคง แข็งแรง สวยงามแต่เป็นที่น่าเสียดายที่บางอย่างถูกโจรกรรมไปบ้าง แต่ก็ยังมีอีกมากที่มีค่าทางภูมิปัญญาที่ควรศึกษาและสืบทอดต่อไป