ญวนคนญวนหรือคนไทยเชื้อสายเวียดนามส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่อำเภอท่าบ่อ อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์และประเทศเวียดนาม คราวแรกน่าจะเป็นการอพยพในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งที่ไทยทำสงครามกับเวียดนามคงมีการกวาดต้อนเอาพลเมืองญวนมายังฝั่งไทยบ้าง ต่อมาคงมีชาวญวนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเวียงจันทน์มากในสมัยรัชกาลที่ ๕ ฝรั่งเศสได้เวียงจันทน์และล้านช้างเป็นเมืองขึ้น พระกุประดิษฐ์บดี (ชาลี, สาลี) เจ้าเมืองจันทบุรี (เวียงจันทน์) จึงพาราษฎรอพยพมาอยู่ที่บ้านท่าบ่อเกลือเป็นเมืองท่าบ่อเกลือหรืออำเภอท่าบ่อ ในปัจจุบันและสุดท้ายในช่วงสงครามอินโดจีนราษฎรเมืองเวียงจันทน์หลบหนีภัยสงครามในเวียงจันทน์และเวียดนามมาอาศัยอยู่ทางฝั่งเมืองหนองคายมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
ดังนั้น ตัวเมืองท่าบ่อปัจจุบันซึ่งได้ชื่อว่ามีครอบครัวชาวญวนอยู่อาศัยหนาแน่นมากที่สุดและยังรักษา ขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะภาษาพูดซึ่งต่างกับภาษาถิ่นอีสานทั่วไป ยังคงเป็นภาษาที่คนญวนใช้พูดคุยกันในกลุ่มชาวญวนด้วยกันเอง เด็กหนุ่มสาวก็ยังคงพูดญวนเช่นเดียวกับปู่ย่า ตายาย ผิดแต่ว่าถ้าหนุ่มสาวชาวญวนพูดคุยกันเองจะใช้ภาษาถิ่นไทอีสานหรือพูดไทยภาคกลางแทน
คำที่ใช้เรียกอาหารญวนก็คงได้รับการเรียกขานกันอยู่ในปัจจุบัน เพราะอาหารญวนมีลักษณะที่เหมือนอาหารอีสาน ทั้งยังเป็นที่นิยมซื้อหารับประทานกันโดยทั่วไปโดยเฉพาะในเขตอำเภอท่าบ่อ เช่น บั่นแบ๋ว กะญอ ข้าวเปียกญวน เป็นต้น