พิธีไหว้ครูหมอต่อกระดูกเป็นพิธีกรรมไหว้ครูประจำทุกปีจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีแรกของเดือนหก (ประมาณปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม) เพื่อเป็นการสักการะและแก้บนครูหมอที่ช่วยรักษาหรือช่วยบันดาลให้สิ่งที่บนบานไว้ประสบความสำเร็จผ่านพ้นไปได้ด้วยดี พิธีไหว้ครูหมอต่อกระดูกกรณีของนางล่วน ชุมชาติ เนื่องจากเป็นตระกูลเชื้อสายมโนราห์รักษาความเจ็บป่วย โดยต้องจัดพิธีขึ้น ๓ วัน เริ่มตั้งแต่วันอังคาร พุธ และวันพฤหัสบดี ตามลำดับดังนี้
วันแรก: ตัดเหมรฺย
ตัดเหมรฺย คือ แก้บน จัดขึ้นในวันอังคาร ผู้ป่วยหรือผู้ที่บนบานไว้จะต้องเตรียมสิ่งของต่างๆ ดังนี้
๑.ของแก้บนคือ สิ่งที่ได้บนบานเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น เฉพาะหัวหมู ไก่ เหล้าแดงและเงิน ตามจำนวนที่เคยบนบานเอาไว้
๒.ขันหมากพลูภายในขันบรรจุเครื่องบูชาอย่างละ ๙ อันประกอบไปด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน หมากพลู เงิน
๓.สอบราชครูเป็นกระสอบนั่งใส่เครื่องบูชาครู อันประกอบด้วย กระสอบนั่งข้าวเหนียว กระสอบนั่งข้าวสาร ด้ายขาว ๙ ไจ และเบี้ยราช โดยผู้ที่เข้ามาตัดเหมรฺยจะต้องตักข้าวสารและข้าวเหนียวจำนวน ๓ ครั้ง ๓ ลักษณะการตัก นำไปใส่ในสอบราชครู ในปริมาณ “สามกอบ สามกำ สามหยิบ”
“กอบ” การเอามือ ๒ ข้างรวบสิ่งของเข้ามาจนนิ้วก้อยของมือชิดกันแล้วยกขึ้น
“กำ” การเอานิ้วมือทั้ง ๕ รวบของให้เต็มมือที่กำเข้า
“หยิบ” การเอานิ้วมือ ๒-๓ นิ้วจับของขึ้น
“สอบนั่ง” กระสอบเสื่อกระจูดทรงกระบอก พับปากลง นิยมใช้ใส่สิ่งของต่างๆ ซึ่งเรียกตามรูปร่างและลักษณะการใช้สอยโดยการวางตั้ง
เมื่อถึงเวลาผู้มาตัดเหมรฺยยกขันหมากพลู พร้อมกับสิ่งของที่บนบานมาถวายเพื่อเป็นการแก้บน โดยมีร่างทรงเป็นสื่อกลางในการทำพิธีตัดเหมรฺย
วันที่สอง: รำถวายครูหมอโนรา
ในวันที่สองพิธีจัดขึ้นในช่วงค่ำ ประมาณ ๒ ทุ่ม เป็นการรำโนราถวายแก่บรรพครู ซึ่งเป็นทั้งครูหมอต่อกระดูกและครูโนรา โดยลูกหลานในตระกูล พิธีเสร็จสิ้นเวลาประมาณ ๐๑.๐๐ น.
วันที่สาม:เด็ดพิษ
ในวันสุดท้ายของพิธีไหว้ครูหมอต่อกระดูก เป็นการจัดพิธีเด็ดพิษ “เด็ดพิษ” หมายถึง การหายขาด ซึ่งเป็นพิธีตัดความเจ็บป่วย ตัดความโชคร้าย ตัดสิ่งที่คั่งค้างอยู่กับเจ้ากรรมนายเวรให้หมดสิ้นไป ผู้เข้าร่วมพิธีจะได้รับน้ำดื่ม ๑ ขวด นำไปดื่มที่บ้านจนหมด โดยเป็นเคล็ดว่า ผู้ป่วยที่หายจากอาการกระดูกหักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำที่เดิมอีกต่อไป