พิธีไหว้ภูมิ
“พิธีไหว้ภูมิ” หรือ “พิธีไหว้พระภูมิ” เกิดขึ้นเมื่อก่อนกระทำการใดๆ ในงานมงคลประเภท งานบวช งานแต่งงาน งานยกเสาเอก-เสาเรือน เจ้าภาพจะต้องทำพิธีไหว้ภูมิ โดยให้หมอไหว้ภูมิแจ้งแก่พระภูมิได้ทราบความเป็นมาเป็นไปของการจัดงานนั้นๆ โดยเชื่อว่าหากละเลยไม่ขออนุญาต ขอความคุ้มครอง รวมถึงขอขมาจากพระภูมิจะส่งผลให้การจัดงานเกิดอุปสรรค์ ยกตัวอย่างเช่น เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เกิดอุบัติเหตุเภทภัย ตลอดจนเกิดปัญหาจิปาถะต่างๆ นานา ให้คอยแก้ไขไม่รู้จักหมดสิ้น
“หมอไหว้ภูมิ” คือ ผู้รู้ผู้ชำนาญในการทำพิธีกรรมติดต่อกับ “พระภูมิ” เทพารักษ์ประจําพื้นที่และสถานที่ ซึ่งเป็นเทวดาผู้ดูแลรักษาผืนดินนั้นๆ เพื่อขออนุญาตกระทำการบนผืนแผ่นดิน ให้อนุเคราะห์ความสะดวก รวมถึงความปลอดภัยแก่มนุษย์ที่อาศัยอยู่ภายใต้การดูแลของพระภูมิ แตกต่างกับ “เจ้าที่” หรือ “เจ้าที่เจ้าทาง” ซึ่งอาจ ผี วิญญาณหรือเทวดาที่รักษาพื้นที่หนึ่งและหนทางช่วงหนึ่งเท่านั้น
เครื่อง ๑๒ บูชาพระภูมิประกอบด้วย
ข้าว แกง ขนมแดง
ขนมขาว ขนมโค กล้วย
อ้อย ถั่ว งา
เหล้า น้ำเปล่า ข้าวตอก
นอกจากนี้ยังมีสายสิญจน์ น้ำมนต์ ธูป เทียน เบี้ยราช หมาก พลู ดอกไม้ โดยนำเครื่อง ๑๒ ใส่ใน “บัตรพลี” เรียกเต็มว่า “บัตรกรุงพาลี”
จำนวน ๙ กระทงบัตรแปลว่า ใบพลีแปลว่า เซ่น “บัตรพลี” หมายถึง กระทงเครื่องเซ่น
หมอไหว้ภูมิชาวปักษ์ใต้เรียกบัตรพลี ว่า “บัตร” ซึ่งเป็นกระทงเครื่องเซ่นที่ทำจากใบเตยป่า มี ๓ ลักษณะคือ
๑. บัตรภูมิ (บัตรเทวดา) ทำด้วยใบเตยป่าซ้อนกัน จำนวน ๓ ชั้น สำหรับใส่เครื่องเซ่นไหว้พระภูมิเทวดา
๒. บัตรกลม (บัตรสี่เหลี่ยม) ทำด้วยใบเตยป่า ลักษณะคล้ายถาดเหลี่ยม ใส่เครื่องเซ่นพระภูมิ พระแม่ธรณี
๓. บัตรเหลี่ยม (บัตรสามเหลี่ยม หรือ บัตรคางหมู) ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู สำหรับใส่เครื่องบูชาท้าวกุมพลี (ท้าวพลี) ยักษ์ใหญ่แห่ง ๓ โลก
หลักในการไหว้ภูมิ
๑. หมอไหว้ภูมิจะต้องไหว้ภูมิให้ครบทั้ง ๘ ทิศ อันประกอบด้วย ทิศบูรพา ทิศอาคเนย์ ทิศทักษิณ ทิศหรดี ทิศประจิม ทิศพายัพ และทิศอุดร
๒. หมอไหว้ภูมิต้องนั่งตรงปลายเท้าของพระภูมิเสมอโดยหันหน้าไปศีรษะตามวันซึ่งเป็น
ตัวกำหนดทิศพระภูมินอน ดังนี้
วันอาทิตย์ ศีรษะหันไปทางทิศบูรพา เท้าไปทางทิศประจิม
วันจันทร์ ศีรษะหันไปทางทิศอาคเนย์ เท้าไปทางทิศพายัพ
วันอังคาร ศีรษะหันไปทางทิศทักษิณ เท้าไปทางทิศอุดร
วันพุธ ศีรษะหันไปทางทิศหรดี เท้าไปทางทิศอิสาน
วันพฤหัสบดี ศีรษะหันไปทางทิศประจิม เท้าไปทางทิศบูรพา
วันศุกร์ ศีรษะหันไปทางทิศพายัพ เท้าไปทางทิศอาคเนย์
วันเสาร์ ศีรษะหันไปทางทิศอุดร เท้าไปทางทิศทักษิณ
ขั้นตอนพิธีไหว้ภูมิ (กรณีงานบวชและงานแต่งงาน)
๑. นำเครื่อง ๑๒ ใส่ในบัตรภูมิ (บัตรเทวดา) บัตรกลม (บัตรสี่เหลี่ยม) และ บัตรเหลี่ยม (บัตรสามเหลี่ยม) จำนวนทั้งสิ้น ๙ กระทง จากนั้นนำไปวางไว้ในถาดใบใหญ่
วางบัตรภูมิ (บัตรเทวดา) ไว้กลางถาด
วางบัตรเหลี่ยม (บัตรสามเหลี่ยม) โดยหันเหลี่ยมไปทางประตูบ้าน
วางบัตรกลม (บัตรสี่เหลี่ยม) รอบๆ บัตรภูมิ (บัตรเทวดา)
๒. หมอไหว้ภูมิหันหน้าไปทางทิศพระภูมินอน จุดเทียน ๑ เล่ม บูชาบัตรภูมิ (บัตรเทวดา) และธูป ๙ ดอก ปักในบัตรพลีทั้ง ๙ กระทง
๓. หมอไหว้ภูมิเริ่มกล่าวคาถาชุมนุมเทวดา กล่าวตั้งนะโมฯ บูชาพระ จากนั้นจึงกล่าวบอกงาน กล่าวบทไหว้ภูมิ หลังจากกล่าวจบ หมอไหว้ภูมิประพรมน้ำมนต์ด้วยใบพลูให้ทั่วบัตรพลี เจ้าภาพและบริเวณงาน
๔. หมอไหว้ภูมิกล่าวบูชาท้าวกุมพลี เมื่อกล่าวจบใช้ใบพลูจุ่มแก้วเหล้านำมาประพรมให้ทั่วบัตรพลี
๕. หมอไหว้ภูมิกล่าวลาพระภูมิ จากนั้นให้เจ้าภาพกล่าวบทกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรโดยรดน้ำลงไปในถาดที่ใส่บัตรพลีไว้
๖. หมอไหว้ภูมิ (กรณีเฉพาะนายวิชิต ยางทอง) นำขนมโคใส่ในวงแหวนผูกด้วยด้ายสายสิญจน์ โยงมาผูกกับบัตรภูมิ (บัตรเทวดา) จากนั้นนำวงแหวนขนมโคไปวางไว้บนหลังตู้ และนำบัตรภูมิ (บัตรเทวดา) ไปแขวนไว้ที่เสาเอกของบ้าน
๗. นำบัตรพลีที่เหลือไปวางไว้
๘. ทั้ง ๘ ทิศ รอบบริเวณงาน พร้อมกับประพรมน้ำมนต์ โดยหมอไหว้ภูมิต้องเดินตามทักษิณาวัตร เริ่มจากทิศที่ประกอบพิธี เมื่อถึงทางเข้างานหรือประตูบ้านให้วางบัตรเหลี่ยม (บัตรสามเหลี่ยม) โดยหันเหลี่ยมออกไป เพื่อเป็นการป้องกันเภทภัยต่างๆ นานา
ระยะเวลาประกอบพิธี
พิธีไหว้ภูมิในงานบวชและงานแต่งงาน เริ่มประมาณ ๑๗.๐๐ น. เป็นต้นไป ใช้ระยะเวลาประมาณ ๑-๒ ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอาณาบริเวณพื้นที่ในการจัดงานบวชและงานแต่งงาน
นายวิชิต ยางทอง เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ สมรสกับนางพิน ยางทอง ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๑๑๔ หมู่ที่ ๘ ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๑-๒๗๖-๐๘๖๖
นายวิชิต ยางทอง มีความสามารถในการเป็นลูกคู่หนังตะลุงและมโนรา เครื่องดนตรีที่บรรเลงได้คือ ไวโอลิน ซออู้ ซอ ต่อมาเมื่ออายุ ๔๐ ปี นายวิชิต ยางทองได้รับถ่ายทอดการเป็นหมอไหว้ภูมิ จากนายเที่ยง บริเพชร (ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน) ซึ่งได้รับการถ่ายทอดหมอไหว้ภูมิมาจากบิดา คือ นายเกลี้ยง
บริเพชร (เสียชีวิต)โดยปกติการเป็นหมอไหว้ภูมิจะถ่ายทอดกันในสายตระกูล ทั้งนี้นายเที่ยง บริเพชร ไม่มีทายาทสืบทอดจึงยกวิชาดังกล่าวให้แก่นายวิชิต ยางทอง