ชื่อ ประเพณีชักพระ
ประวัติ ตำนาน ความเป็นมา
ประเพณีชักพระเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษมายาวนานในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (วันออกพรรษา) เป็นวันที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จกลับมาเทวโลกมาสู่โลกมนุษย์โดยมีขบวนเทพยดาและมนุษย์ส่งเสด็จ และรับเสด็จโดยชาวบ้านจะมีการทำบุญตักบาตร และมีการอันเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกเรือพระ และจะเริ่มลากเรือพระออกจากวัด มีการตีกลองตะโพนไปตลอดทาง เพื่อเฉลิมฉลองสมโภชน์แล้วลากเรือกลับวัด
การจัดทำเรือพระของอำเภอโคกโพธิ์ ได้มีการริเริ่มในสมัยพระครูมานิตย์สมณคุณ (หลวงพ่อสีพุฒ) อดีตเจ้าอาวาสวัดมะเดื่อทอง โดยริเริ่มจัดทำ “พนมเรือพระ” โดยนำกระดาษสีมาแกะลายกนกนำมาปิดยอดพนมและได้มีการจัดชุมนุมเรือพระครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยพระอธิการแดง สุนทรโร (หลวงปู่แดง) เจ้าอาวาสวัดมะเดื่อทองในขณะนั้น ได้นัดหมายให้มีการลากพนมเรือพระมาจอดชุมนุมสมโภชน์ร่วมกัน ๑ คืน แล้วจึงนำเรือกลับในวันรุ่งขึ้น และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ วัดต่าง ๆ ได้มีการลากเรือพระมาชุมนุมพร้อมกัน ณ ลานหน้าที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ ซึ่งถือเป็นงานประเพณีชักพระครั้งแรกของอำเภอโคกโพธิ์ จนภายหลังได้รับการบรรจุอยู่ในงานประเพณีสำคัญในปฏิทินการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
สาระสำคัญ วัตถุประสงค์
- เพื่อสืบสานงานประเพณีชักพระของอำเภอโคกโพธิ์
- เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงประเพณีที่สำคัญของชาวไทยพุทธ
กลุ่มคนที่เชื่อ
- ประชาชนทั่วไปที่นับถือศาสนาพุทธ
โอกาส ฤดูกาล เวลา สถานที่
- จัดขึ้นแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (วันออกพรรษา) ณ หน้าที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์
รูปแบบความเชื่อ ลักษณะการแสดงออกรูปแบบและกระบวนการของพิธีกรรม
- ก่อนออกพรรษาแต่ละวัดในอำเภอโคกโพธิ์จะทำเรือพระ ซึ่งมีทั้งประเภทเรือยอด และเรือความคิดสร้างสรรค์ เมื่อถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จะมีการลากเรือพระจากวัดไปหน้าที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ เป็นงานประเพณีชักพระ ให้ประชาชนทั่วไปได้มาทำบุญในวันออกพรรษา