วัดขุนเมืองใจตั้งอยู่ในเขตตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดขุนเมืองใจนี้ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับประวัติการสร้าง พงศาวดารระบุว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ในหนังสือภูมิสถานกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้ว่า พระมหาเจดีย์วัดขุนเรืองใจเป็นหลักของพระนครศรีอยุธยาด้วยอีกแห่งหนึ่ง ส่วนในพงศาวดารภาคที่ 63 เรื่องกรุงเก่าระบุว่า วัดขุนเมืองใจตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (จวนผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นตำแหน่งสมุหนายกอัครมหาเสนาบดี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จากการศึกษาชั้นดินและโบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่งและขุดค้นพบว่า เริ่มมีการอยู่อาศัยในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 20-21 และใช้งานเรื่อยมาจนกระทั่งเสียกรุง
ภายในวัดปรากฏหลักฐานเจดีย์ประธานที่มีความคล้ายคลึงกันกับเจดีย์วัดโขลง ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี สมัยทวารวดี ทำให้นักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่า สร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ที่เรียกว่าศิลปะแบบอโยธยาหรืออู่ทอง จากการขุดตรวจบริเวณมุมฐานเจดีย์ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าเจดีย์องค์นี้ก่อสร้างทับเจดีย์ราย 8 เหลี่ยมอยู่ เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่า เจดีย์ประธานองค์ปัจจุบันนี้ไม่น่าจะมีอายุเก่าไปกว่าสมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนวิหารที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเจดีย์ประธานนั้น จากการขุดแต่งพบว่ามีขนาด 9 ห้อง หันหน้าอาคารไปทางทิศตะวันตก มีร่องรอยการก่อสร้างซ้อนทับ 2 ครั้ง ระดับฐานอาคารชั้นที่ 1 ต่ำกว่าปัจจุบัน 20 เมตร วิหารสร้างอยู่บนฐานไพทีร่วมกับกลุ่มเจดีย์ราย
โดย...วัฒนธรรมอำเภอพระนครศรีอยุธยา
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา