การเดินขาหยั่งเป็นการละเล่นพื้นบ้าน ที่นิยมเล่นกันมานานและทุกพื้นที่ในประเทศไทย ลักษณะการเล่นเป็นการใช้ไม้ไผ่ทำเป็นขาเดิน ๒ ข้าง คล้ายเป็นขาเทียม เพื่อใช้ก้าวย่างเดินจะทำให้ตัวสูงขึ้น ขาหยั่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เช่น ขาย่าง โกกเกก โถกเถก เป็นต้น การเรียกว่า โกกเกก อาจจะเรียกตามเสียงที่ได้ยินจากการใช้ขาหยั่งเดิน หรืออากัปกิริยาของผู้เดินด้วยขาหยั่ง นอกจากนี้อาจจะมาจากการเพี้ยนเสียงระหว่างคำโกกเกก และ คำโถกเถก
การเดินขาหยั่งหรือโถกเถกนอกจากได้รับความนิยมในหมู่คนไทยแล้ว ชนเผ่าปะกากะญอก็ให้ความสนใจการละเล่นชนิดนี้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งประชากรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ล้วนเป็นชาวปะกากะญอทั้งสิ้น ทุกคนในหมู่บ้านให้ความสนใจการอนุรักษ์การละเล่นเดินขาหยั่งหรือเดินโถกเถก จนปัจจุบันได้มีการจัดให้มีการแข่งขันกีฬาเดินขาหยั่งขึ้นทุกปี ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่
วิธีทำขาหยั่งจะใช้ไม้ไผ่ ๒ ลำขนาดพอเหมาะ เพื่อความแข็งแรงของไม้ควรตัดตั้งแต่โคนต้น ยาวประมาณ ๒-๕ เมตร ใช้มีดเหลาลำไม้ไผ่ให้เรียบ เหลือแขนงไผ่หรือกิ่งไผ่ที่แข็งแรงไว้สำหรับเหยียบเดิน หากแขนงไผ่ไม่ทนทานและแข็งแรง ผู้ทำขาหยั่งจะเจาะรูลำไม้ไผ่ให้สูงเท่า ๆ กัน ใช้ไม้เนื้อแข็งทำเป็นเดือยหรือสลัก เพื่อให้เท้าเหยียบได้สะดวกยิ่งขึ้น
วิธีการเล่นการเล่นขาหยั่งเป็นการละเล่นที่ค่อนข้างยาก ผู้เล่นต้องอาศัยทักษะหลายด้าน รวมถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลายส่วน ดังนั้นผู้เล่นจึงต้องรู้วิธีการเล่น ซึ่งวิธีที่จะทำให้ผู้เล่นไม่ล้ม คือ เวลาขึ้นต้องทรงตัวให้ดี มีความกล้า เวลาขึ้น ถ้าขึ้นด้วยขาซ้าย ขาขวาและมือขวาต้องมั่นคงเพื่อเป็นการค้ำยันไว้ พอเท้าขวาขึ้นมือซ้ายก็ต้องมั่นคงเช่นกัน
กติกาการเล่นผู้เข้าแข่งขันยืนพร้อมกันที่จุดเริ่มต้น กรรมการให้สัญญาณแล้วให้ทุกคนขึ้นขาหยั่งวิ่งไปวนจุดที่กำหนดไว้แล้วกลับมาที่เดิม ใครกลับมาถึงก่อนเป็นผู้ชนะ หากใครล้มหรือเท้าหล่นจากไม้ต้องไปเริ่มที่จุดเริ่มต้นใหม่