ประวัติหมู่บ้านมะขามเฒ่าจากคำบอกเล่าของนายสมโภชน์ กางกรณ์ และได้เรียบเรียงไว้ เล่าว่าเมื่อปี พ.ศ. 2431 มีครอบครัวชาวพวน 7ครอบครัว อพยพมาจากบ้านโคกกระเทียม ได้แก่ครอบครัวของ พ่อเฒ่าอ่ำ ,ครอบครัวพ่อเฒ่าเอี่ยม ,ครอบครัวพ่อเฒ่าทัด ,ครอบครัวพ่อเฒ่าสาลี ,ครอบครัวแม่เฒ่าฮอง, ครอบครัวแม่เฒ่าจันดี แต่ละครอบครัวต่างมีลูกหลานติดตามมาเป็นเด็กเล็กบ้าง เด็กรุ่นหนุ่มสาวบ้าง และในบรรดาเด็กรุ่นนั้นมีป้าอุมมากับป้าคำ สองพี่น้องพลัดจากพ่อแม่ที่หลวงพระบาง แม่เฒ่าพรมพบ จึงรับไว้ และได้อพยพติดตามมาด้วยกันทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เดินทางมาเพื่อต้องการหาถิ่นฐานที่ทำกินเดินทางบุกป่าฝ่าดง จนกระทั้งมาพบต้นมะขามเฒ่ายักษ์ ยืนสงบอยู่ใกล้หนองน้ำ บริเวณนั้นมีเนินดินกว้างและมีหนองน้ำขนาดใหญ่ น้ำใสสะอาดและร่มรื่น มีร่องรอยของสัตว์ป่าหลายชนิดลงมากินน้ำ เนินดินนั้นกว้างและสูงพ้นจากน้ำท่วมน่าจะเคยเป็นที่อยู่ของคนสมัยโบราณมาก่อน หนองน้ำและเนินดินกว้างใหญ่นี้จะต้องเกิดมาจากการขุดดินในหนองมาถม เพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยของคนสมัยนั้นและที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ขุดดินลงไปก็เจอถ้วยชาม ไหแตก ที่เป็นดินเผาและต้นมะขามเฒ่ายักษ์สามต้นยืนเรียงแถวเป็นแนวเดียวกัน ระยะใกล้เคียงกันและ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของต้นมะขามเฒ่านั้น มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่เท่าต้นมะขาม 1ต้น ขนาดรองอีก 1 ต้น จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า ณ ที่แห่งนี้อาจจะเคยเป็นวัดหรือที่บำเพ็ญทางศาสนามาก่อน
หลังจากสำรวจดูรอบนอกเนินดิน ก็เป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับเป็นที่ทำนา แล้วคณะผู้อพยพจึงตกลงกันตั้งหมู่บ้านขึ้น โดยใช้ชื่อว่าหมู่บ้าน “ มะขามเฒ่า ” โดยเอาต้นมะขามเฒ่าริมหนองน้ำเป็นศูนย์กลาง ทิศตะวันออกบริเวณหนองน้ำกั้นไว้เป็นเขตวัด ด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงเหนือให้จับจองเป็นที่อยู่อาศัยแล้วก็บุกร้างถางพง ทำนาปลูกข้าวพัฒนาหนองน้ำให้กว้างขึ้น เพื่อนำน้ำมาใช้อุปโภคบริโภคตลอดปี สร้างเหมืองฝายทดน้ำเข้ามาในหมู่บ้าน พร้อมทั้งสร้างวัดขึ้นมาเพื่อทะนุบำรุงพระศาสนา โดยมีหลวงน้าไพ เป็นเจ้าอาวาส องค์แรก ต่อมาอีกไม่นานก็มีครอบครัวพ่อเฒ่าเพียร,พ่อเฒ่าสินทา ,พ่อเฒ่าเพชร สามครอบครัวย้ายมาจากบ้านทราย มาตั้งหมู่บ้านอยู่ที่ทุ่งนา จึงเป็นหมู่บ้านทุ่งใหญ่ปัจจุบันนี้ ต่อจากนั้นก็ร่วมกันพัฒนาวัด ศาลาโรงเรียน โดยมิได้ออกไปเรี่ยไรเงินจากที่ใดๆ เลย นับว่าเป็นการร่วมมือร่วมใจสามัคคีกันอย่างเป็นปึกแผ่นจริงๆในสมัยนั้นฝนตกตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ จนกล่าวกันติดปากว่า บ้านมะขามเฒ่า “ ข้าวเต็มนา ปลาเต็มฮ่อง” “หม่าเผ็ดเต็มโพน หม่าโต่นเต็มคั้ง”
ในทางศาสนานั้น อาจารย์วัดคนแรก คือ หลวงน้าไพ ท่านมาจากตระกูลแม่หม้าย มีผู้กล่าวไว้แต่ในกลุ่มผู้อพยพรุ่นแรกนั้น มีบุคคลสำคัญสองท่านเดินทางมาด้วย คนแรก คือ เด็กชายสันทา อายุ 6ปี เด็กชายอ่ำ อายุ 1 ปี ที่อองหลังพ่อมา รุ่นแรกทั้งสองท่านนี้ ต่อมาคือพระครูสันทา ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสระเตย สันทานุสรณ์ และพระครูอ่ำ อุตตโม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนวัดมะขามเฒ่า อ่ำราษฏร์ประดิษฐ์ หลังจากหลวงน้าไพถึงแก่กรรม พระครูอ่ำอุตตโม ก็รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสแทน ท่านก็พัฒนาวัด และก่อตั้งโรงเรียนอ่ำราษฏร์ประดิษฐ์ขึ้นมา การศึกษาเริ่มต้นจากโรงเรียนวัด ต่อมาเมื่อสร้างโรงเรียนขึ้นมาแล้ว ทางราชการก็มาสนับสนุนด้วยดีตลอดมา ทางด้านประเพณีท่านก็นำสืบทอดเสมอมา เช่น สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญควายเดือนอ้ายเดือนยี่ เดือนสาม สามค่ำบุญข้าวหลาม ข้าวจี่ เดือนสี่บวชนาค เดือนห้าสงกรานต์ เดือนหกเวียนเทียน เดือนแปดแห่เทียนพรรษา เดือนเก้าห่อข้าวสารทพวน เดือนสิบทอดผ้าป่าสามัคคี เดือนสิบเอ็ดทอดกฐิน เดือนสิบสองทำบุญเทศน์มหาชาติ ข่วยกระจาด แต่ก่อนๆ นั้น วันดีคืนดีจะมีแก้วมณีเรืองแสง เขียว แดง เหลือง ลอยมาจากต้นมะขามไปทางทิศตะวันออกทางโบสถ์ พรหมทินใต้และโนนเจดีย์ หรือบางครั้งลอยไปทางทิศตะวันตก วัดถ้ำเขาสาริกา และที่แน่นอนที่สุดก็คือ มะขามเฒ่าแห่งนี้ผลิตนักปราชญ์ทางศาสนามาป็นเจ้าอาวาสปกครองพระสงฆ์มาแล้ว 10องค์ เป็นเจ้าคณะตำบลในอำเภอต่างๆ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล อุปัชฌาย์พระครูฏีกา พระอธิการ ฯลฯ สิ่งมงคลที่มีอยู่ในมะขามเฒ่าต้นนี้ คงมีส่วนช่วยบันดาล ในปัจจุบันนี้มีเจ้าอาวาส ชื่อ พระครูอดุลย์ ธรรมกร เป็นรองเจ้าคณะตำบลหนองทรายขาว