เส้นทางเมืองอู่ทอง ไหว้พระออมบุญ
5ขุนเขา เมืองอู่ทอง 1 ศาลเจ้าพ่อ
วัดเขาถ้ำเสือพระอารามศักดิ์สิทธิ์แห่งการค้นพบ พระเครื่อง ชื่อก้องของเมืองไทย “พระถ้ำเสือ” พุทธสถานสถิตประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณแกะสลักลอยนูนเด่นเป็นสง่าอายุนับพันปี และจุดชมวิวชั้นสรวงสวรรค์แห่งขุนเขา
วัดเขาทำเทียมขุนเขาแห่งนี้มีเพิงผาหน้าถ้ำเป็นที่พำนักของอัครสาวกขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เส้นทางรอยบุญพระโสณเถระและพระอุตตระเถระ และพุทธสถานแห่งอุโบสถ ใบเสมาหินโบราณ เล่าขานตำนาน “บุษยศิริ” ปฐมอุโบสถในสยามประเทศ
วัดเขาพระศรีสรรเพชญารามสรวงสวรรค์แห่งพระธรรมสอนของพุทธองค์ ขุนเขาวัดพระศรีสรรเพชญาราม แดนดินถิ่นพุทธคุณบารมีแห่งหลวงพ่อสังฆ์ ณ เพิงผาหน้าถ้ำบอันยอดเขามานานนับพันปี ด้วยรัศมีแห่งธรรมอันบริสุทธิ์
วัดเขากำแพงแดนดินถิ่นยอดพระเมรุ ปล่องภูเขาไฟที่เผาไหม้กิเลส ดับทุกข์ในทรวงด้วยปริศนาธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และวิจิตรบรรจงสร้างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหินหยกล้ำค่าแห่งแสงธรรมงดงามตระการตาเป็นยิ่งนัก
วัดเขาดีสลักบนยอดเขาวัดดีสลัก ถิ่นฐานประดิษฐานหินพระพุทธบาทจำลองนูนล้ำค่าทางจิตใจ สัมผัสปริศนาธรรมอันยิ่งใหญ่ ขอพรพระบารมีมีพระบรมสารีริกธาตุ กรุพระถ้ำเสือ นมัสการองค์มหาเจดีย์ ศรีทวาวดี และชมทิวทัศน์จากยอดเขางามตามองเห็นทั่วหล้าดั่งปริศนา
เจ้าพ่อพระยาจักร
เทวรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยทวารวดี
ประวัติศาลเจ้าพระยาจักร ความเป็นมา ชาวอู่ทองในสมัยก่อนได้ค้นพบองค์เทวรูปเจ้าพ่อพระยาจักรซึ่งเป็นหินศิลาแลงแกะสลักลายนูน ณ บริเวณริมแม่น้ำจรเข้สามพัน และได้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานบนแท่นบูชา พร้อมทั้งก่อสร้างศาลาเจ้าพ่อเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2400เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้กราบไหว้บูชา องค์เจ้าพ่อพระยาจักร
ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2434 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจราชการ จังหวัดสุพรรณบุรี และได้มาที่อำเภออู่ทอง ซึ่งขณะนั้นเดิมชื่ออำเภอจระเข้สามพัน ได้ทรงเล่าเรื่องราวของเมืองอู่ทองไว้ในพระราชนิพนธ์ “นิทานโบราณคดี” ตอนหนึ่งว่า
“วันรุ่งขึ้นฉันได้ไปคูเมืองท้าวอู่ทอง เมืองตั้งอยู่ห่างฟากตะวันตกของลำน้ำจระเข้สามพัน คูเมืองเป็นเมืองเป็นเมืองเก่าแก่ใหญ่โคเคยมีป้อมปราการก่อด้วยศิลาแห่หักพังไปเสียเกือบหมดแล้วยังเหลือคงแต่รูปประตูเมืองแห่งหนึ่งกับป้อมปราการต่อจากประตูนั้นข้างละเล็กน้อย แนวปราการด้านหน้าตั้งอยู่บนที่ดอน ดูเป็นตระพักสูงราว 6ศอก แล้วเป็นแผ่นดินต่ำต่อไปสัก 5เส้น ถึงริมแม่น้ำจระเข้สามพันมีรอยถนนจากประตูเมืองตรงไปถึงท่าเรียกว่า “ท่าพระยาจักร”
และในตอนท้ายได้กล่าวถึงเจ้าพ่อพระยาจักร “ใช่แต่เท่านั้นแม้แต่เทวรูปโบราณที่นับถือกันในสมัยภายหลัง ก็มีรูปพระวิษณุแบบเก่าที่ทำใส่หมวกแทนมงกุฎ อยู่ที่ท่าพระยาจักรองค์หนึ่ง ซึ่งคนถือว่าศักดิ์สิทธิ์ไม่กล้าถือย้ายเอาไปไว้ที่อื่น”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2529คณะกรรมการศาลเจ้าพ่อพระยาจักรได้ตกลงกันสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นสร้างด้วยหินอ่อนมูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท หลังจากศาลเจ้าพ่อหลังใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้วได้ทำพิธีเปิดป้าย เมื่อวันที่ 24ธันวาคม พ.ศ. 2530 เวลา 11.49 น.
ปัจจุบันอาคารศาลเจ้าพ่อพระยาจักร เด่นสง่าสวยงามอยู่กลางใจเมืองอู่ทอง มีประชาชนทั่วไปมากราบไหว้สักการะบูชากันอย่างต่อเนื่องและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เองเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนชาวเมือง อู่ทอง ตราบนานเท่านาน
ความศักดิ์สิทธิ์และปาฏิหาริย์ของเจ้าพ่อพระยาจักร
ชาวตลาดอู่ทองยังจดจำไว้ไม่มีวันลืมเหตุการณ์ที่หลาย ๆ คน ประสบอัคคีภัย ไฟไหม้อาคารบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยเป็นร้อยห้องขึ้นไป เหตุเกิดขึ้นประมาณ ตี 2ของใกล้รุ่งเช้าของวันที่ 29สิงหาคม พ.ศ. 2510ร้านค้ารอบ ๆ ศาลเจ้าพ่อพระยาจักรถูกเปลวไฟเผาไหม้แต่ศาลไม่ได้รับอันตรายจากเปลวไฟแม้แต่น้อยเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก และผู้ที่สัมฤทธิ์ผลจากการสักการะบนบานศาลเจ้าพ่อพระยาจักร มักจะนำเครื่องเซ่นไหว้หรือการขอเป็นเจ้าภาพงานงิ้วในช่วงเทศกาล อยู่เป็นประจำตลอดปี
“รำลึกอดีต” วิถีชีวิตของคนอู่ทองกับ “ศาลเจ้าพ่อพระยาจักร” เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ การไปสักการะมิใช่เป็นเพียงเพื่อปฏิบัติตามประเพณีนิยมเท่านั้นแต่ยังแสดงออกที่ระลึกถึงความรักที่มีต่อกำเนิด บ้านเกิด เมืองนอน ไม่ว่าชาวอู่ทองที่อยู่ในพื้นที่หรือไปประกอบสัมมาอาชีพยังต่างถิ่น เมื่อได้กลับมายังเมืองอู่ทอง มักจะมาแวะเวียนสักการะอยู่เสมอ ๆ และเป็นการเติมเต็มความสุขของจิตใจ ที่ไม่อาจลืมเลือน
อีกทั้งยังเป็นสถานที่เพื่อการพักผ่อนของชาวอู่ทอง ในช่วงเช้าและเย็น เพื่อพบปะสนทนากัน ซึ่งถือว่าเป็นอัตลักษณ์ที่เราควรค่าแก่การช่วยกันเก็บรักษา เพื่อภาพแห่งความทรงจำนี้ได้สืบทอดให้แก่ลูกหลาน ได้รับรู้วิถีชีวิตของเรา “ชาวอู่ทอง”
ธรรม