การทอเสื่อกกของชาวบ้านซับใต้ หมู่ที่ ๗ ตำบลกฤษณา อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา นับว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีการทำและสืบทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นต่อมาอย่างสืบเนื่องยาวนาน จนการทอเสื่อกกกลายเป็นวิถีชีวิตในยามว่างจากงานเกษตรกรรม เพื่อทำขึ้นใช้เองในครัวเรือน และซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นรายได้เสริม จนเกิดการรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการรักษา สืบทอดภูมิปัญญา และช่องทางการหารายได้เพิ่มขึ้น โดยได้ใช้ฝีมือแรงงานและวัตถุดิบจากในชุมชน มีการพึ่งพาอาศัยกันและกัน
วัตถุดิบและส่วนประกอบ ได้แก่ 1. กกหรือไหล 2. เชือกไนลอนหรือเชือกเอ็น 3. ฟืม 4. ไม้สอดกก
ขั้นตอนการผลิต
1. นำกกหรือไหลมากรีดออกเป็นเส้นไปตากแดดประมาณ 1อาทิตย์
2. เมื่อแห้งแล้วนำมาย้อมสีตามต้องการ โดยสีที่ย้อมเป็นสีเคมีอย่างดี ส่วนมากจะย้อมสีน้ำตาลและสีขาว สีแดง สีน้ำเงิน
3. นำเชือกไนลอนหรือเชือกเอ็นขึงที่ฟืมทอเสื่อให้เป็นเส้นตามฟืม
4. นำกกหรือไหลสอดเข้ากับไม้สอดเพื่อที่จะสอดเข้ากับฟืมทอเสื่อ
5. เมื่อสอดกกหรือไหลเข้าไปแล้วผลักฟืมเข้าหาตัวเองให้กกหรือไหลแน่นติดกันเป็นลายต่าง ๆ
6. ลายที่ทอเป็นประจำและเป็นที่นิยมคือ ลายมัดหมี่ ลายธรรมดา ลายกระจับ
7. เมื่อทอได้เต็มผืนก็มัดริมเสื่อ และตัดเสื่อออกจากกี่
8. ตกแต่งให้มีความเรียบร้อยสวยงาม
นอกจากจะทำผลิตภัณฑ์หลักคือเสื่อแล้ว ยังมีการแปรรูปผลิตเพิ่มอีก เช่น กล่องใส่กระดาษชำระ ที่ใส่ไม้จิ้มจิ้มฟัน
ที่รองจาน/แก้ว เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายเป็นทางเลือกเพิ่มให้แก่ผู้ซื้ออีกด้วย
เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต
1. ควรตากต้นกก/ไหล ไว้ครึ่งวันเพื่อให้ได้ต้นกก/ไหลที่มีเนื้อละเอียดไม่มีขน
2. การฉีกควรให้เป็นเส้นเสมอกัน แล้วจึงนำไปตากแดดให้แห้งสนิทจนเป็นสีขาว เพื่อป้องกันไม่ให้ขึ้นรา
3. ก่อนทอต้องพรมน้ำสักครู่ เพื่อให้กกมีความนิ่ม ทอง่าย
4. การย้อมสีต้นกกไม่ควรต่ำกว่า 15 นาทีเพื่อกันสีตก