ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 53' 32.6699"
14.8924083
ลองจิจูด (แวง) : E 101° 43' 23.1247"
101.7230902
เลขที่ : 175118
ประเพณีตานก๋วยสลาก คนไท-ยวน
เสนอโดย am(Pornthip) วันที่ 2 มกราคม 2556
อนุมัติโดย นครราชสีมา วันที่ 7 มกราคม 2556
จังหวัด : นครราชสีมา
0 801
รายละเอียด

ตานก๋วยสลาก ตานสลาก กิ๋นข้าวสลาก กิ๋นก๋วยสลาก หรือกิ๋นสลาก ล้วนแต่เป็นภาษาถิ่นของชาวล้านนาที่มักมีการเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ความหมายนั้นเหมือนกันโดยหลักการอาจจะแตกต่างกันไปบ้านในเรื่องรายละเอียด ถ้าเป็นภาษาไทยเรียกว่า “สลากภัต”ของชาวล้านนา คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ หรือสังฆทาน มีประวัติความเป็นมาเล่ากันว่า “ครั้งพุทธกาลพระบรมโพธิสัตว์พร้อมพระสาวกได้เดินทางจาริกแสวงบุญ เผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ตลอดระยะเวลาได้มีศรัทธาญาติโยมนำอาหารคาวหวานมาถวายในบรรดาญาติโยมเหล่านั้น แต่ละคนมีฐานะแตกต่างกัน คนที่มีฐานะดีก็นำอาหารอย่าดีจำนวนมากมาถวาย ส่วนคนที่มีฐานะยากจน แต่มีจิตศรัทธา

ใคร่ทำบุญก็นำอาหารเท่าที่หามาได้มาทำบุญ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหมู่สงฆ์ที่รับถวาย พระพุทธองค์พิจารณาเห็นดังนั้น จึงบัญญัติวิธีการให้พระสงฆ์จับสลากรับถวายอาหารจากญาติโยม ซึ่งเป็นวิธีการที่ยุติธรรมและพอใจให้แก่ทุกฝ่าย และได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา

การทำบุญตานก๋วยสลากนี้ มีจุดประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และสามารถอุทิศผลอานิสงส์นี้ไปเป็นเนื้อนาบุญแก่ผู้ที่ทำตานก๋วยสลากเองเมื่อถึงแก่กรรมแล้วเชื่อว่า ชาติหน้าจะได้มีกินมีใช้ มั่งมีศรีสุขดี นอกจากนี้ ประเพณีตานก๋วยสลาก ยังแสดงถึงพลังความสามัคคีของชาวบ้านที่ร่วมมือ ร่วมใจกันทำงานบุญงานกุศลโดยพร้อมหน้ากันปีหนึ่งจะได้ทำบุญพร้อม ๆ กันหนหนึ่ง สามารถนำเงินและปัจจัยต่าง ๆ ไปบำรุงพระสงฆ์และปฏิสังขรณ์วัดได้มาก

ขั้นตอนพิธีกรรม จะเริ่มตั้งแต่วันแรก เรียกว่า “วันดา” หรือวันสุกดิบ หรือวันเตรียม ผู้หญิงก็จะไปหาซื้อของที่ตลาด จัดหาข้าวปลาอาหารขนมนมเนย ผลหมากรากไม้ พริก เกลือ บุหรี่ เมี่ยง หมากใบพลู ไม้ขีดไฟ ผงซักฟอก ฯลฯ ฝ่ายชายก็จะเหลาตอก (ไม้ไผ่) เตรียมสานก๋วยไว้หลาย ๆ ใบ นำมากรุด้วยใบตองหรือกระดาษสีต่าง ๆ เพื่อบรรจุสิ่งของต่างๆ ทั้งของกินของใช้ แล้วเอาใบตองหรือกระดาษปิดมัดก๋วยรวบกันเป็นมัด ๆ สำหรับเป็นที่จับ ตรงที่รวบไว้นี้จะมีเงิน ชาวบ้านเรียกว่า ยอด (เงิน) เสียบไม้ไผ่ ส่วนจำนวนเงินจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่กำลังศรัทธาของผู้บริจาค ในวันดานี้จะมีญาติพี่น้องตระกูลเดียวกัน ตลอดจนเพื่อนบ้านก็จะนำของกินของใช้มาสมทบด้วยเพื่อบรรจุลงในก๋วย รูปก๋วยสลากนั้น มิได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นก๋วยเสมอไป ในปัจจุบันที่พบเห็น รูปก๋วยจะมีการประยุกต์สารพัดหลายรูปแบบ บ้างก็ทำเป็นรูปหงส์ บ้างก็ทำเป็นรูปสุมทุมพุ่มไม้กิ่งไม้ ดอกไม้ หรือทำเป็นพุ่มดอกบัว

เมื่อถึงวันที่กำหนดชาวบ้านเจ้าของกัณฑ์สลาก จะจัดขบวนแห่เครื่องไทยทานเข้าวัดโดยขบวนแห่จะประกอบด้วยต้นสลาก ขบวนรถก๋วยสลาก แต่ละขบวนแห่จะมีการฟ้อนรำของศรัทธาชาวบ้าน และนำไปวางไว้ ณ สถานที่ในบริเวณวัดจัดไว้ เพื่อทำพิธีทางศาสนา และถวายก๋วยสลากแด่พระสงฆ์ตามหมายเลขที่พระสงฆ์จับได้ การตานสลากภัต จะเขียนคำอุทิศถวาย

ที่เรียกว่า ด้านสลาก หรือก้านตาน หรือใบสลาก มักทำด้วยกระดาษแข็งหรือใบลาน เพื่อให้พระสงฆ์กรวดน้ำ ในสมัยก่อน จะนำเอาใบลานมาทำเป็นเส้นสลาก แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้วเส้นสลากจะถูกนำมาบางสันปันส่วนกันไปในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์ จากวัดต่าง ๆ รูปละ ๕ เส้น ๑๐ เส้น บ้างแล้วแต่ กรณีส่วนหนึ่งแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพก่อน จะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเส้นสลากไปอ่าน โดยเริ่มจากเจ้าอาวาสก่อน โดยจะมีการเรียกชื่อหาเจ้าของสลากนั้น ๆ ว่านั่งอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วจะมีการให้ศีลให้พรหยาดน้ำอุทิศ ส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับเป็นอันเสร็จพิธี

สถานที่ตั้ง
ชุมชนคนไท-ยวน บ้านเหนือ
หมู่ที่/หมู่บ้าน 4 บ้านเหนือ
ตำบล สีคิ้ว อำเภอ สีคิ้ว จังหวัด นครราชสีมา
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นางพยอม จิตต์มานะ
เลขที่ 87 หมู่ที่/หมู่บ้าน 4 บ้านเหนือ
ตำบล สีคิ้ว อำเภอ สีคิ้ว จังหวัด นครราชสีมา รหัสไปรษณีย์ 30140
โทรศัพท์ 0862447382
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่