คำว่า หมน หมู่ที่ ๕ ตำบลท่าเรือ เป็นชื่อเรียกต้นไม้เช่นเดียวกับ บ้านชะเมา และบ้าน
การะเกด ซึ่งเป็นชื่อเรียกต้นไม้จำพวกหว้า ไม้หมนเป็นไม้เนื้อแข็งเช่นเดียวกับไม้ยาง ใช้ประโยชน์ในการสร้างบ้านเรือน ไม้หมนมีน้ำยางเหลว กลิ่นเหม็นฉุนลักษณะน้ำยางเมือกคล้ายยางสาคู ชาวบ้านเอาเมือกไม้หมนผสมกับปูนขาวและทรายคลุกเคล้าให้เข้ากัน เรียกว่าปูนเพชร เคยใช้ในการก่อสร้างเจดีย์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช โดยเอาเมือกไม้หมนเป็นกระสายทำให้แน่นในหน้าแล้ง และกระชับในหน้าฝน ลักษณะเนื้อไม้เมื่อสัมผัส จะรู้สึกร้อน ปลวกไม่กิน เมื่อโค่นและขุดต้นออกแล้ว รากยังคงงอกต่อไปได้อีก ปัจจุบันเหลืออยู่
น้อยมากในบริเวณบ้านหมน โรงเรียนชุมชนวัดหมนจึงได้ขยายพันธุ์และอนุรักษ์ต้นหมนไว้ให้นักเรียนได้ศึกษา
ชื่อบ้านหมนตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏ ดังนี้
เดิมชื่อบ้าน สระน้ำมนต์ เพราะมีสระน้ำขนาดใหญ่ปัจจุบันสระน้ำตื้นเขินเพราะถูกไถกลบมิดชิด และใช้เป็นสถานที่ตั้งกองร้อยอาสาสมัครที่ ๑ นครศรีธรรมราช เดิมเคยเป็นที่วัด ชื่อวัดหมนตะวันออก อยู่ห่างจากที่ตั้งโรงเรียนชุมชนวัดหมนไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๘๐๐ เมตร สระน้ำอยู่ในวัดเก่าริมทางเดิน ตาหมอเฒ่า ถือขันน้ำมนต์ชัยมงคล นำหน้าทัพ กองทัพหน้าของเจ้าพระยานคร(น้อย) ยกไปปราบ ขบถ และจัดการปกครองเมืองไทรบุรี ประมาณ พ.ศ.๒๓๙๒ ตรงกับสมัยรัชการที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตามคำสั่งของฝ่ายราชธานี ซึ่งกำหนดการปลุกเสกที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารโดยเอาน้ำในสระสำคัญ ๔ แห่ง ของเมืองนครศรีธรรมราช และได้มาประชุมทัพพลบค่ำที่หมู่บ้านแห่งนี้ ตาหมอเฒ่าผู้ถือขันน้ำมนต์ ได้เทน้ำมนต์ลงไปในสระจนหมด เป็นการแสดงว่า ส่งทัพแต่เพียงแค่นี้ หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า บ้านสระน้ำมนต์ ต่อมาได้กร่อนคำไปตามลิ้นชาวใต้ เหลือแต่มน และเพี้ยนไปเป็นหมนจนถึงปัจจุบัน