ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : - ลองจิจูด (แวง) : -
เลขที่ : 180185
ทุ่งพญาเมืองที่สามโคก
เสนอโดย yao2498 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556
อนุมัติโดย mculture วันที่ 29 มีนาคม 2559
จังหวัด : ปทุมธานี
0 1075
รายละเอียด

ทุ่งพญาเมืองที่สามโคก

สามโคกอาจไม่ใช่ชื่อเก่านัก เพราะใน “พงศาวดารเหนือ” ที่พระวิเชียรปรีชา (น้อย) รวบรวม เรียบเรียงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงยกพลลงไปขุดบางเตย จะสร้างเมืองใหม่พระอาจารย์ห้ามว่าน้ำเค็มนัก ยังไม่ถึงพุทธทำนายสร้างไม่ได้

พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นกษัตริย์ในพงศาวดารที่สับสนหาหลักฐานการเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการแห่งกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ แต่ในตำนานพะองค์เป็นผู้สร้างวัดพนัญเชิงเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงนางสร้อยดอกหมากมเหสีเชื้อสายจีน และวัดพนัญเชิงนี้เองที่มีการฉลองพระพุทธรูปก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปี

บางเตยที่กล่าวถึงนี้ คือคลองบางเตยในเขตอำเภอสามโคก ฝั่งตรงข้ามเยื้องกับทุ่งพญาเมืองเล็กน้อย การกล่าวว่าน้ำเค็มยังขึ้นถึงบางเตยก็แสดงให้เห็นว่า บริเวณนี้ถูกเลือกเพราะมีความเหมาสมที่จะสร้างบ้านเมืองหรือชนขนาดใหญ่ได้ ทั้งใกล้เกาะน้ำกว่าที่เกาะเมืองอยุธยา สะดวกในการเป็นชุมชนเมืองท่าภายในที่สัมพันธ์กับการพาณิชย์นาวีระหว่างภูมิภาค

ในปัจจุบันพบว่า หากน้ำทะเลหนุนในช่วงหน้าแล้งจัด น้ำเค็มก็สามารถขึ้นมาถึงแถวๆปากเกร็ดได้ จึงไม่น่าแปลกใจหากน้ำเค็มจะขึ้นมาถึงบางเตยเมื่อหลายร้อยปีก่อน เหนือจากคลองบางเตยขึ้นไปไม่ไกลนัก ใกล้กับคลองควายบริเวณบ้านบางกระบือ มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เรียกว่าโคกยายมั่นบ้านเก่าซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับวัดมหิสารามที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท้าวอู่ทองพ่อค้าเกวียนและสมบัติที่ถูกฝังไว้ บริเวณนี้พบเครื่องปั้นดินเผาจากหลากหลายแหล่งที่มา ที่น่าสนใจคือเครื่องถ้วยจากจีนสมัยราชวงศ์หยวน จากเวียดนามในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จากสุโขทัย ศรีสัชนาลัย จากบางปูน สุพรรณบุรี เป็นต้น วัดมหิงสารามในปัจจุบันเป็นวัดร้าง ซากโบสถ์นั้นเป็นรูปแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย ในอดีตคงมีการอยู่อาศัยสืบเนื่องตลอดมา ฝั่งตะวันตกเยื้องกับคลองบางเตย มีร่องรอยของคูคันน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดตามยาวไปกับแนวของลำน้ำเจ้าพระยา บริเวณนี้รู้จักกันในชื่อ “ทุ่งพญาเมือง” โคลงกำศรวลสมุทร กล่าวถึงทุ่งพญาเมืองเมื่อเดินทางผ่านนั้นเมืองนี้ได้กลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว

จากมาเรือร่อนท้ง พญาเมือง

เมืองเปล่าปลิวใจหาย น่าน้อง

จากมาเยียมาเปลือง อกเปล่า

อกเปล่าว่ายฟ้าร้อง ร่ำหารนหา

“ทุ่งพญาเมือง” เมืองโบราณ มีการสำรวจจากนักวิชาการท้องถิ่น ทั้งอาจารย์ทองคำ พันนัทธีและอาจารย์วีระวัฒน์ วงศ์ศุปไทย มีการเขียนผังเมืองโบราณไว้อย่างคร่าวๆ แต่ตรวจสอบกับสภาพปัจจุบันได้ยากมาก เพราะพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและผังภาพถ่ายทางอากาศก็ไม่ตรงกับแผนผังจากการ สำรวจนัก แต่ก็พอจะเห็นได้ว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีการขุดคูน้ำคันดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า ภายในเมือง มีแนวคูน้ำมีแนวตัดกันเป็นตาราง คูเมืองภายนอกเชื่อมต่อกับคลองธรรมชาติที่ปากคลองกับลำน้ำเจ้าพระยาหรือคลองวัดบ้านพร้าวในปัจจุบันและบริเวณนี้มีการทำ “ทำนบ” เป็นคันดินยาวขวางลำน้ำหลายแห่ง น่าจะใช้สำหรับการทดน้ำทำนา ภายในเมืองหลังจากการสำรวจ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ มุมเมืองด้านเหนือ เริ่มต้นจากวัดศาลาแดงเหนือถึงทางใต้แถวๆบ้านงิ้วที่ต่อเนื่องกับวัดสวนมะม่วง ตรงนี้มีวัดเก่าที่เรียกว่า วัดราชบูรณะ แต่ถูกรื้ออิฐไปขายคราวที่มีการให้สัมปทานรื้อถอนไปใช้เมื่อครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ คันดินที่เป็นกำแพงสูงใหญ่กว้างกว่า ๑๐ วา คูน้ำกว้าง ๑๐ วา มีโคกเนินหลายแห่ง ที่มีชื่อบันทึกไว้เช่น โคกช้างใหญ่ โคกช้างน้อย โคกประชุมพล สนามตระกร้อ สระน้ำ เช่น สระโมส สระใหญ่ สระลงเรือ สระสมอ กระไดหก ซึ่งปัจจุบันไม่เหลือสภาพดังแผนที่ดังกล่าว และแนวคันดินกำแพงเมืองทางตะวันออกก็ถูกปรับกลายเป็นถนนสายที่ต่อกับถนนจากวัดเสด็จข้ามคลองประปาไปยังวัดไผ่ล้อม ถนนลาดยางปัจจุบันนี้ จึงทับไปบนกำแพงเมืองเมื่อผ่านเมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมือง

สิ่งสำคัญที่สุด คือ ในบริเวณโรงเรียนวัดป่างิ้วกับริมฝั่งเจ้าพระยา มีวัดร้างสองแห่งอยู่คู่กันและ สัมพันธ์กับทุ่งพญาเมือง นั้นคือ วัดพญาเมืองและวัดนางหยาด

วัดพญาเมืองนั้น ในปัจจุบันไม่หลงเหลือสภาพวัดโบราณแต่อย่างใดและกลายเป็นคานเรือไปหมด พบเพียงคำบอกเล่าว่าซากของวัดพญาเมืองหักพังลงน้ำไปนานแล้ว สวนเศียรพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่ และใบแสมาหินทรายแดงหลายหลักก็ถูกขนย้ายไปไว้ที่วัดสองพี่น้องที่อยู่ไม่ไกลจากวัดป่างิ้วนัก ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่วิหาร หลวงพ่อเพชร – หลวงพ่อพลอย และที่หน้าหอสวดมนต์วัดสองพี่น้อง แต่ซากของวัดนางหยาดยังคงอยู่ เจ้าอาวาสวัดป่างิ้วเห็นความสำคัญและได้บูรณะวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายหลายองค์ สำหรับพระประธานซึ่งมีพระพักตร์ตามแบบที่อาจารย์ประยูร อุลุชาฏะ เรียกว่า พระพุทธรูปแบบอู่ทองพระพักตร์รูปไข่ ซึ่งเป็นศิลปะแบบอโยธยาหรือแบบอู่ทองตอนปลายที่อาจารย์กำหนดอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘

นอกจากนี้ บริเวณชายตลิ่งที่ถูกกัดเซาะของวัดสองพี่น้องซึ่งอยู่ภายในเมืองโบราณนี้ และไม่ไกลจากวัดนางหยาดและวัดพญาเมืองนัก พบเครื่องถ้วยจำนวนมากตั้งแต่เครื่องถ้วยหลวงฉวนและปูเถียนในสมัยราชวงศ์หยวนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ เครื่องถ้วยจากเวียดนามในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เครื่องถ้วยลายครามตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงตอนกลางราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และสมัยราชวงศ์ชิง เครื่องถ้วยสุโขทัยในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้น

สถานที่ตั้ง
บริเวณวัดพญาเมืองและวัดนางหยาด (ร้าง)
ตำบล บ้านงิ้ว อำเภอ สามโคก จังหวัด ปทุมธานี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ( ศาลากลางหลังเก่า )
บุคคลอ้างอิง นางวีระนันท์ จันทร์กระจ่าง อีเมล์ ChanKrachang@windowslive.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด อีเมล์ data55@hotmail.com
ถนน เทศปทุม
ตำบล บางปรอก อำเภอ เมืองปทุมธานี จังหวัด ปทุมธานี รหัสไปรษณีย์ 12000
โทรศัพท์ 025811237 โทรสาร 025934406
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่