โบราณวัตถุ กวางหมอบ
วัสดุ หินปูนเขียว
อายุ/สมัย ทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖
ขนาด กว้าง ๒๐ เซนติเมตร สูง ๑๔ เซนติเมตร
สภาพ ชำรุด ส่วนหัวหักหายไป
สถานที่พบ ภายในเมืองโบราณบ้านอู่ตะเภา อ.หนองแซง จ.สระบุรี
ชาวบ้านได้มามอบให้กับทางวัด
ลักษณะ เป็นประติมากรรมลอยตัวรูปกวางนอนหมอบ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะพบได้ในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดีเท่านั้น เป็นส่วนหนึ่งของชุดธรรมจักรซึ่งประกอบไปด้วย
๑.ฐานธรรมจักร
๒.เสาธรรมจักร เป็นเสาแปดเหลี่ยม
๓.ธรรมจักร
๔.กวางหมอบ
ในการประดิษฐานธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้ามีประติมากรรมรูปกวางหมอบ หรือรูปบุคคลห้าคน บางครั้งมีการพบรูปสัญลักษณ์ทั้งสองสิ่งอยู่ด้วยกัน แสดงถึงการแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันกรุงพาราณสี คำว่า “อิสิปตนมฤคทายวัน” มีความหมายว่า ป่าที่ไม่มีภัยแก่สัตว์ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของพวกฤษี พระธรรมที่พระพุทธทรงแสดงในครั้งนั้นคือธัมมจักกัปปวัตนสูตรซึ่งเป็นหนทางการพ้นทุกข์ ประกอบด้วย อริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งเป็นหลักของศาสนาพุทธ