หมอนไม้ เป็นของใช้พื้นบ้าน ใช้หนุนศีรษะ เก็บรักษาง่าย คงทนถาวร สามารถพกพาไปในที่ต่าง ๆ ได้สะดวก เพราะเป็นไม้ขนาดไม่ใหญ่มาก ทำจากไม้แผ่นเดียว มาเจาะเป็นสองชิ้น พับเก็บได้
การทำหมอนไม้ นิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ยูง ไม้สัก ไม้มะค่า มีความเชื่อว่าที่ใช้ไม้เนื้อแข็งทำเป็นการยกส่วนที่สูงที่สูงที่สุดของร่างกาย ให้เป็นมงคลแก่ผู้ใช้ หนุนเพื่อรักษาสุขภาพ สำหรับผู้เป็นภูมิแพ้ ถือเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ สืบทอดต่อกันมา ปัจจุบัน นิยมทำเป็นของที่ระลึกแก่ญาติ ๆ ลูก หลาน สร้างความประทับใจแก่ผู้รับ
วัสดุอุปกรณ์
๑. สิ่ว สำหรับเจาะไม้
2. เหล็กท้องบุ้ง
3. เลื่อย
4. กระดาษทราย
5. กบไสไม้
6. ไม้เนื้อแข็ง
ขั้นตอนการทำ
นำไม้เนื้อแข็งมาตัดเป็นแผ่น ๆ มีความหนา 3 - 5 เซนติเมตร กว้าง 10 – 15 เซนติเมตรใช้เลื่อยตัดตามขนาด และใช้กบไสแผ่นไม้ทั้ง 2 ด้าน ให้เรียบ แบ่งความยาวออกเป็น 3 ส่วน บริเวณที่ใช้ในการเจาะ คือ ส่วนกลาง วัดแบ่งส่วนกลาง ออกเป็น 5 ช่องเท่า ๆ กัน และทำการเจาะสลับกันใน แต่ละด้านของแผ่นไม้ การเจาะไม้จะเจาะไปถึงเส้านกลางของความหนาของแผ่นไม้ เมื่อเจาะเดือยทั้ง 2 ด้านของแผ่นไม้แล้ว นำมาเลื่อยจนแผ่นไม้แยกออกเป็น 2 แผ่น และยึดติดกันด้วยเดือยที่เจาะ เสร็จแล้วขัดผิวไม้ด้วยเหล็กบุ้ง และกระดาษทราย ขัดให้เรียบ เวลาใช้ให้ตั้งแผ่นไม้ให้ขัดกันเหมือนรูปกากบาท
โรงเรียนวัดบางวัว (สายเสริมวิทย์) ได้ขอรับบริจาคหมอนไม้ จากประชาชนชาวตำบลบางวัว นำมาจัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน โรงเรียนวัดบางวัว (สายเสริมวิทย์) เพื่อให้เด็ก เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้ถึงภูมิปัญญา วิถีชิวิต