เมืองพระเกิด เป็นชุมชนโบราณ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ บ้านพระเกิด ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นเมืองหรือชุมชนที่ไม่มีคูน้ำและคันดิน การกำหนดเขตจึงไม่แน่นอน สันนิษฐานว่าตั้งเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองคชราชาขึ้นกับเมืองพัทลุง จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๓๗ ได้ลดฐานะลงเป็นหมู่บ้านขึ้นกับตำบลฝาละมี
เมืองพระเกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของตาสามโมกับยายเพชร ซึ่งเป็น หมอสะดำ (หมอช้างขวา) หรือนายกองช้าง ที่เข้ามาตั้งกองจับช้างและฝึกหัดช้างป่าส่งให้เจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองสทิงพาราณสี (เมืองสทิงพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา) ปีละ ๑ เชือก การตั้งกองจับช้างป่านี้เอง ทำให้เกิดเป็นชุมชนบ้านเมืองเพลา นางเลือดขาวฉบับวัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เรียกชุมชนนี้ว่า"เมืองพระเกิด" เมื่อตาสามโมกับยายเพชรถึงแก่กรรม นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารผู้เป็นบุตรบุญธรรมได้เป็นผู้นำชุมชน จับช้างป่าส่งให้กรุงศรีอยุธยาปีละ - เชือก แสดงให้เห็นว่าอำนาจของกรุงศรีอยุธยาได้เข้ามาครอบงำเมืองพระเกิดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นต่อมานางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารได้อพยพสมัครพรรดพวกขึ้นไปตั้งเมืองใหม่ที่บ้านบางแก้ว ดังที่เพลานางเลือดขาวได้ระบุไว้ว่า "อนึ่ง ครั้นกุมารอยู่ ณ แม่น้ำพระเกิดพระศพธาตุตายายนั้นไซร์ ก็กรีธาพลไปข้างหัวนอนทักษิณเมืองพระกรุงนครพาราณสีนั้นไซร้มิพบที่จะเป็นประโยชน์ กรีธาพลมาข้างอีสานเมืองพระเกิดนั้นก็ตั้งพลับพลาไป ณ บางแก้ว" ซึ่งต่อมาได้พัฒนาการขึ้นเป็นเมืองพัทลุง ส่วนเมืองพระเกิดหลังจากนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารถึงแก่กรรมแล้ว บุตรชายของนางเลือดขาวชาวบ้านเรียกว่า "เจ้าฟ้าคอลาย" ได้เป็นคหบดีหรือเจ้าเมืองพระเกิดแต่ได้ลดฐานะเมืองลงเป็น "ที่คช" หรือ"ที่ช้าง" ซึ่งเพลานางเลือดขาวได้ระบุว่ามีอาณาเขตทิศเหนือจดคลองบางแก้ว (คลองท่ามะเดื่อ ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง) ทิศใต้จดคลองจะนะ (อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา) ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ปรากฏหลักฐาน ในเอกสารกัลปนาวัด พ.ศ.๒๒๔๒ ได้ระบุว่า ผู้ปกครองที่คชมีบรรดาศักดิ์เป็นที่ "ขุนคชราชา" ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฏหลักฐานในจารึก วัดพระเชตุพนฯ พ.ศ.๒๓๗๕ ระบุว่าที่คช มีฐานะเป็น "เมืองคชราชา" ขึ้นกับเมืองพัทลุง แต่ในสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๔๓๒เมืองคชราชามีฐานะเป็น "แขวงพระเกิด" หรือ "ตำบลพระเกิด"มีหลวงวิสูตรบริรักษ์เป็นนายตำบลขึ้นกับเมืองสงขลา ดังที่ รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน "จดหมายเหตุเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ.๑๐๘" (พ.ศ.๒๔๓๒) ว่า "แต่ที่แขวงเมืองสงขลาเข้าไปแทรกอยู่ในระหว่างมีแขวงเมืองพัทลุงล้อมรอบตำบลหนึ่งเรียกว่าที่พระเกิด" ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๓๗ โปรดเกล้าฯ ให้ยกตำบลพระเกิดขึ้นกับแขวงปากพะยูน (อำเภอปากพะยูน) เมืองพัทลุง
โบราณวัตถุสถานในบริเวณเมืองพระเกิด เนื่องจากบริเวณชุมชนพระเกิดเป็นชุมชนโบราณมีความเจริญที่สืบต่อเนื่องกันมาหลายสมัย โบราณวัตถุสถานส่วนใหญ่ได้ถูกทำลายสูญหายไปจำนวนมาก ที่พอจะเป็นหลักฐานแสดงถึงความเก่าแก่ของชุมชน มีดังนี้
๑. วัดพระเกิด ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นวัดโบราณไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด ภายในวัดเดิมมีเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูนตั้งอยู่หลังศาลาการเปรียญ ต่อมาทางวัดได้ขุดรื้อเจดีย์นำอิฐไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ได้พบโบราณวัตถุมากมายหลายชนิด เช่น เพชร ทองคำแท่ง แหวนทองคำ เงินนโม และพระพุทธรูปหลายองค์ เป็นต้น สิ่งสำคัญภายในวัดปัจจุบัน ได้แก่ พระเกิด ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแบบนูนสูง ปั้นดินผนังก่ออิฐถือปูนปางมารวิชัย ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ มีขนาดสูง ๔๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๓๓ เชนติเมตร พระเกิดนี้จากคำบอกเล่าของชาวบ้านว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปสำริด แต่ต่อมาได้สูญหายไปในช่วงที่วัดร้างไม่มีพระภิกษุดูแล นอกจากนี้ยังมีตะโพนขนาดใหญ่หนึ่งใบ ทำจากไม้มะม่วงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลากรัง ๑๐๐ เซนติเมตร มีจารึกว่าสร้างเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๖
๒. คอกช้าง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดพระเกิดลักษณะเป็นเนินดินสูง ชาวบ้านเล่ากันว่าเป็นคอกช้างของตาสามโมกับยายเพชร ปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นคอกช้าง
๓. เครื่องปั้นดินเผา ในบริเวณบ้านพระเกิดและบริเวณใกล้เคียง ได้มีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาทั้งของไทยและของจีนเช่น พ.ศ.๒๕๒๒ นายลิ่ม อินทรแก้ว ได้ขุดพบไห ๔ หู สมัยราชวงศ์หยวน พุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ จำนวน ๑ ใบ ในบริเวณบ้านอ่าวยาเตย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านพระเกิดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๖ กิโลเมตร พ.ศ.๒๕๒๔ ขุดพบเครื่องถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์ซ้อง พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ จำนวน ๗ ใบ ที่บ้านหัวถนน และขุดพบไห ถ้วยชาม ภายในคลองพระเกิดอีกหลายชิ้น เป็นต้น นอกจากนี้ บริเวณหน้าวัดพระเกิด และภายในสระน้ำของวัด ได้ขุดพบเศษเครื่องปั้นดินเผาสมัยต่าง ๆ จำนวนมากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงหลักฐานการตั้งชุมชน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐