ชื่อห้วยน้ำหยาด มาจาก การที่ผิวน้ำกระทบกับแสงอาทิตย์ทำให้มองเห็นเป็นลักษณะน้ำหยาดระยิบระยับ ห้วยน้ำหยาดเป็นลำห้วยขนาดใหญ่เกิดจากแอ่งน้ำตอนบนที่อยู่ระหว่างหุบเขาภูผาเหล็กและภูผาทองตั้งอยู่ท้องที่ ต.ค้อเขียว อ.วาริชภูมิ และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูวง เป็นพื้นที่เตรียมการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ลำน้ำไหลผ่านบ้านโคกตราดทอง บ้านป่าโจด และบ้านดงบัง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรและสมาชิกสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพแอ่งน้ำตอนบนของลำห้วยน้ำหยาด ซึ่งทางกรมชลประทานได้วางแนวจัดทำสันช่วงเก็บน้ำห้วยน้ำหยาด ตามแนวพระราชดำริเพื่อพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรบ้านโคกตราดทอง และบ้านป่าโจด ที่ประสบความขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร พร้อมทั้งประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ แอ่งน้ำแห่งนี้ด้วย
อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหยาดตามพระราชดำริเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มีความจุ 700,000 ลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่บนหุบเขาระหว่างภูผาทอง และภูผาเหล็ก มีพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำที่ระดับกักเก็บ 84 ไร่
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาทำพิธีเปิดใช้น้ำที่ต่อท่อส่งน้ำจากตัวอ่างเก็บน้ำ ( ระยะทาง 6 กิโลเมตร ) ลงสู่พื้นที่การเพาะปลูก และที่สหกรณ์โคนมวาริช และได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันหาวิธีที่จะให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการบำรุงรักษา และจัดสรรแบ่งปันน้ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 สมเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเยี่ยมกิจการศูนย์นมสถานีบำรุงพันธ์สัตว์สกลนคร ในโอกาสนี้ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดสกลนคร และผู้แทนโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาได้พิจารณาวิธีการจัดการน้ำที่ได้จากอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหยาด และทำให้มีรูปแบบที่เหมาะสมต่อไปด้วยน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหยาดจะส่งต่อลงมาในหมู่บ้านเพื่อการบริโภค เพื่อการปลูกหญ้า การเลี้ยงโคนม และใช้เพื่อทำการเกษตร ให้กับคนในหมู่บ้านที่เลี้ยงโคนมและรีดน้ำนมวัวส่งให้กับสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ
ประโยชน์ของโครงการ
1. ราษฎร จำนวน 2 หมู่บ้าน จำนวน 130 ครัวเรือน มีน้ำใช้อุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรได้ตลอดปี จำนวน 300 ไร่
2. ช่วยเหลือกิจกรรมการเลี้ยงโคของสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด และบ่อปลา ประมาณ 10 บ่อ รวม 10 ไร่ได้ตลอดปี