เพลงทรงเครื่อง เป็นการแสดงเพลงพื้นบ้านที่แม่ครูทองดี ผู้ซึ่งแสดงละครในพระราชวังสมัยรัชกาลที่ 6 ได้นำมาดัดแปลงเป็นเพลงทรงเครื่อง เริ่มแสดงที่จังหวัดราชบุรีเรื่อยมา ต่อมาลูกศิษย์ที่ได้เล่นเพลงอยู่คนเดียวกัน ได้แก่ แม่ครูเหม อินทร์สวาท และพ่อครูพร้อม บูชา ซึ่งเป็นคนราชบุรี ได้อพยพมาอยู่สุพรรณบุรีในคราวเดียวกัน โดยแม่ครูเหมได้อยู่หัวดอน พ่อครูพร้อมอยู่กลางดอนและแม่ครูทองดีอยู่ท้ายดอน ได้นำเพลงทรงเครื่องมาถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานตลอดจนผู้ที่สนใจและได้ทำการแสดงในละแวกวัดใหม่นพรัตน์ต่างคนต่างถ่ายทอดศิลปะการแสดงให้กับผู้ที่ฝึกหัดจนเพลงทรงเครื่องได้เป็นที่รู้จัก และได้ออกทำการแสดงในจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดใกล้เคียงพอสมควรหรือตามแต่จะมีผู้มาว่าจ้าง
เพลงทรงเครื่อง ในสมัยนั้นนิยมเล่นตามงานบุญต่างๆ เช่น งานบวช งานวัด งานทอดกฐิน งานโกนจุก เป็นต้น ได้รับความสนใจมากกว่าการแสดงลิแก สมัยนั้นยังไม่มีเรียกกันเป็นคณะ แต่จะเรียกกันตามชื่อผู้ที่นำไปแสดง เช่น ไปแสดงที่หัวดอน เรียก เพลงยายเหม แสดงที่กลางดอน เรียกเพลงตาพร้อม แสดงท้ายดอน เรียกเพลงแม่ทองดี
ในระยะหลังแม่ครูเหม อินทร์สวาท และพ่อครูพร้อม บูชา ซึ่งอยู่ในวัยชราไม่สามารถถ่ายทอดศิลปะการแสดงเพลงทรงเครื่องได้ จึงไม่มีผู้สืบทอดต่อ ทำให้เพลงทรงเครื่องหายไปจนกระทั่งแม่ครูเหม อินทร์สวาท ได้เสียชีวิตเมื่อเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2534 และพ่อครูพร้อม บูชา ได้เสียชีวิตในเดือนเมษายน พ.ศ. 2541
ต่อมา นางแว่น บูชา ซึ่งเป็นลูกสาวของพ่อครูพร้อม บูชา เกรงว่าเพลงทรงเครื่องจะสูญหาย และตั้งใจที่จะให้ลูกหลานได้ทำการแสดงเพลงทรงเครื่องให้แก่พ่อครูพร้อม ในวันทำบุญครบรอบ 100 วัน จึงให้ลูกหลานได้ฝึกหัดเพลงทรงเครื่อง นางแว่น ได้ถ่ายทอดศิลปะการแสดงในการฝึกซ้อมที่บ้านของนางแว่นเอง ในการฝึกซ้อมครั้งนี้ นางแว่น บูชา ได้เลือกเอาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ตอนพลายชุมพลแปลงเป็นมอญเข้าตีหน้าด่านเมืองสุพรรณบุรี มาฝึกซ้อมให้ลุกหลาน โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเศษ ก็สามารถแสดงในงานทำบุญ 100 วัน พ่อครูพร้อม บูชา ต่อมาเริ่มรับงานแสดงในงานต่างๆที่มีคนมาว่าจ้างในนาม เพลงทรงเครื่องคณะแว่นแก้วเรืองศิลป์ และยังมีพ่อมนัส โพธิ์ถนอม ซึ่งเป็นหลานของคุณแม่ทองดี และเป็นเหลนของคุณแม่เหม ร่วมสอนการแสดงด้วยกันเรื่อยมา ในการรับแสดงงานในแต่ละครั้ง ใช้วิธีว่าจ้างเครื่องดนตรี – ปีพาทย์ เพื่อประกอบในการแสดง เมื่อมีการแสดงตามสถานที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น เพลงทรงเครื่องที่เกือบถูกลืมไปแล้ว จึงได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ด้วยเหตุที่การรับงานแสดงของเพลงทรงเครื่องนั้นต้องว่าจ้างทั้ง ฉากในในการแสดง เครื่องไฟ เครื่องเสียง วงดนตรีปี่พาทย์ อีกทั้งในบางครั้งยังรวมถึงเวทีการแสดง ราคาการว่าจ้างในแต่ละครั้งจึงสูงมากประกอบกับประชาชนไม่ค่อยให้ความสนใจเพลงทรงเครื่อง เพลงพื้นบ้าน แต่กลับหันไปสนใจนาฏดนตรีมากกว่าเพลงทรงเครื่องจึงมีการแสดงค่อนข้างน้อยมากปัจจุบันจึงไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 องค์การบริหารส่วนตำบลเนินพระปรางค์ร่วมกับโรงเรียนวัดใหม่นพรัตน์ คิดฟื้นฟูศิลปะการแสดงทรงเครื่องขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี มาจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ฉาก ไฟ เครื่อง ดนตรีในวงปี่พาทย์ เครื่องแต่งกาย ฯลฯ เพื่อใช้ในการแสดง พร้อมทั้งฝึกซ้อมให้กับนักเรียน โดยมีวิทยากรท้องถิ่นเป็นผู้ถ่ายทอด ได้แก่ นางแว่น บูชา นายมนัส โพธิ์ถนอม และคณะทำให้เพลงทรงเครื่องพอจะเป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไปมากขึ้นในนาม เพลงทรงเครื่องคณะศิษย์นพรัตน์ตั้งแต่นั้นมา
ลักษณะการแสดง เริ่มจากการไหว้ครู โดยปกติแล้วผู้ที่ทำการไหว้ครูจะเป็นนางแว่น บูชา นายมนัส โพธิ์ถนอม หรืออาจจะมีพ่อเพลงแม่เพลงคนอื่นร่วมเป็นลูกคู่รับด้วย เมื่อปี่พาทย์รับสาธุการ จะว่าต่อด้วยเพลงปลอบ เพลงปะ และเริ่มเข้าเรื่องโดยผู้เล่นจะร้องโต้ตอบกัน มีคู่รับเมื่อจบเรื่องหรือจบตอนจะไม่มีบทจากหรือบทลา เหมือนเพลงพื้นบ้านอื่นๆการแสดงจะแสดงเป็นเรื่องราวประกอบดนตรี – ปี่พาทย์ เช่น ขุนช้าง ขุนแผน พระอภัยมณี แก้วหน้าม้า โกมินทร์ ไกรทอง ไชยเชษฐ์ ลักษณวงษ์ เป็นต้น การแสดงในรูปแบบเดิมจะค่อนข้างช้า ในปัจจุบันถ้าแสดงช้าผู้ชมจะรู้สึกเบื่อ จึงปรับให้ไวขึ้น และเพิ่มบทเจรจาให้มีความสนุกสนานเพิ่มขึ้น
การแต่งกาย จะแต่งกายเข้าเครื่องเหมือนละครในสมัยก่อน ตัวนางทุกตัวจะสวมกระบังหน้า อุบะ พวงดอกไม้ รัดข้อแขน กำไลเท้า ปะวะหล่ำ กำไลสวม นุ่งผ้าหน้านาง ห่มสไบ เป็นต้น ถ้าเป็นเจ้าจะสวมชฎาคู่พระนาง (ยอดปัจจุบันเหร็ด) นวมคอ อิทรธนู สายสังวาลย์ ประดับทับทรวง ดวงตรา กำไลขา รัดเชพ สนับเพลง นุ่งผ้าจูงกระเบน ห้อยข้าง เจียระบาด เป็นต้น แต่ปัจจุบันการแต่งกายของเพลงทรงเครื่องค่อนข้างปรับให้เข้ากับยุคสมัย จึงแต่งกายคล้ายกับลิเก