ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 54' 31.4759"
16.9087433
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 7' 17.4166"
99.1215046
เลขที่ : 43201
นายชัยยุทธิ์ ศิลาทอง_ครกหิน
เสนอโดย - วันที่ 2 มกราคม 2553
อนุมัติโดย Takculture วันที่ 20 ธันวาคม 2555
จังหวัด : ตาก
0 1474
รายละเอียด

นายชัยยุทธิ์ ศิลาทองภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีความสามารถในการทำครกหิน สิ่งผลิตจากหินแกรนิต โดยการใช้มือสกัดและหินแกรนิต ให้เป็นครกขนาดต่างๆ ที่ใช้ในครัวเรือน ครกไทยดั้งเดิมทำด้วยเครื่องปั้นดินเผาและสากทำมาจากเนื้อไม้แข็งมานานไม่ต่ำกว่า 800 ปี ซึ่งเรียกว่า “ ครกกระเบือ “และครกกระเบือที่เก่าแก่มากที่สุดเป็นครกในสมัยอยุธยา ทำด้วยดินเผาสีดำ ซึ่งขณะนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรม จังหวัดอยุธยา เป็นครกปากกว้างประมาณ 23 เซนติเมตร ขอบปากปั้นเป็นรูปกลมมนโค้งวงกลมมนโค้งวงกลมช่วงระหว่างปากครกถึงก้นครกจะค่อย ๆ สอบ หรือเรียวเล็กลง โดยมีฐานรองอีกชั้นหนึ่ง มีลักษณะกลมมนคล้ายปากครก เพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักระหว่างใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ข้อเสียของครกประเภทนี้คือ ครกมักแตกพังง่าย นอกจากนั้นครกยังนิยมทำด้วยไม้ขนาดใหญ่นำมาขุดเจาะ ส่วนมาใช้สำหรับตำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร ครกสมัยโบราณที่เห็นมักมีลักษณะปากกว้างขอบปากปั้นกลมมนโค้งเป็นวงกลม ช่วงระหว่างปากครกถึงก้นครกจะค่อย ๆ สอบหรือเรียวเล็กลงคล้ายกับครกกระเบือ เมื่อนำมาตั้งดูจะค่อนข้างสูง คนไทยในสมัยโบราณได้ใช้ครกในการโขลกบดอาหารใให้แหลกละเอียดเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับจีน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่าง ๆ แก่กัน ช่วงนี้เอง ที่สันนิษฐานว่าได้เปลี่ยนความนิยมจากครกดินเผา มาเป็นครกหินที่ได้มาจากจีน แต่ครกเหล่านี้ก็มีใช้แต่ในหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปก็ยังใช้ครกที่ปั้นจากดินแล้วเผาอยู่เหมือนเดิม ครกหินมีลักษณะคล้ายกับครกดินเผา กล่าวคือมีลักษณะเป็นเป้ากลมลึกลงไปพอประมาณ ก้นครกทำเป็นฐานรองเพื่อให้สามารถตั้งใช้งานได้สะดวก ปัจจุบันได้มีการผลิตครกหินออกจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป กรรมวิธีสกัดครกหิน เครื่องมือที่ใช้ในการสกัดครกหิน 1. ฆ้อนเหล็ก สำหรับสกัดครกหินขนาด 2-12 ปอนด์ 2. เหล็กลิ่ม ใช้สำหรับตอกและเผาก้อนหินขนาดใหญ่ 3. เหล็กสกัด าฃสำหรับสกัดหิน ทำจากเหล็กแหนบรถยนต์ มี 3 แบบ คือ แบบปลายแหลม ปลายแบน และปลายโค้งแบน 4. เครื่องขัดหินไฟฟ้า อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในการทำงาน 1. เตาเส่า หรือเตาตีเหล็ก ใช้สำหรับเป่าลมเร่งความร้อนของถ่านไฟเพื่อเผาเหล็กสกัดหินให้ร้อน ก่อนที่จะใช้ฆ้อนตี-แต่ง ให้มีความคม และอยู่ในแบบที่ต้องการ 2. ผ้าปิดหน้า หรือปิดจมูก แว่นตา เพื่อป้องกันหินฝุ่นเข้าตาและจมูก 3. ผ้าพันมือหรือนิ้วมือข้างที่จับแท่งเหล็กสกัดเพื่อลดการสั่นสะเทือน และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับมือ 4. พัดลม ใช้สำหรับเป่าไล่ฝุ่นขณะกำลังสกัด หรือขณะขัดแต่งด้วยเครื่องขัดหินไฟฟ้า วิธีการสกัดแท่งหิน เนื่องด้วย หินที่จะนำมาใช้ในการสกัดครกหินมีอยู่ในป่าดอยแม่กา ซึ่งมีระยะทางไกล และลึกเข้าไปในป่าที่ยากต่อการสัญจร ผู้มีอาชีพการสกัดครกหินจึงรวมกลุ่มกันประมาณ 10-15 คน เข้าไปพักแรมในป่าใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยจะเบิกเงินล่วงหน้าจากผู้รับซื้อหินหรือตัวแทนจำหน่ายครกหรือหินในหมู่บ้าน พร้อมทั้งรำอาหารเข้าไปพักแรมในป่าด้วย เช่น ข้าวสาร เครื่องปรุงรสอาหาร และไก่นำใส่หับไปด้วย (หับ คือ ตะกร้าสำหรับบรรจุไก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ บรรจุได้ประมาณ 20 ตัวต่อหับ) ส่วนมากหินที่จะใช้ในการสกัดครกหินจะอยู่ใต้ดินจะต้องขุดลงไปในดิน ส่วนมากจะมีความลึก ประมาณ 3-5 เมตร ก้อนหินที่จะนำขึ้นมาใช้ส่วนใหญ่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.50-2.00 เมตร ต้องทำการเจาะสกัดเพื่อแยกก้อนหินให้เป็นก้อนเล็ก ๆ ตามขนาดที่ต้องการด้วยลิ่มเหล็ก โดยจะทำการตอกเป็นแนวยาวต่อเนื่องกันไป ลิ่มแต่ละตัวจะต้องใช้ฆ้อนเหล็กขนาดประมาณ 12 ปอนด์ ตอกจนกว่าหินจะแตกออกเป็น 2 ส่วน และจะทำการยแกหินให้แตกออกจากกันเป็นส่วน ๆ จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 ส่วน จนกระทั่งได้ขนาดตามต้องการประมาณ 15-25 นิ้ว ตามต้องการ และจะทำการโกรนให้เป็นรูปทรงกระบอกคร่าว ๆ ก่อนลำเลียงขึ้นจากหลุมด้วยแรงคน สำหรับหินที่ใช้ทำสาก จะใช้หินที่แตกเป็นก้อนเล็ก ผ่าเป็นแท่งสี่เหลี่ยมยาวประมาณ 10-20 นิ้ว โดยความกว้างจะน้อยกว่าหินสำหรับทำครก ต่อจากนั้น จะรวบรวมหินที่โกรนแล้วให้ได้จำนวนที่เพียงพอก่อนที่จะใช้รถบรรทุก หรือรถอีแต๋นขนออกจากป่า แต่เนื่องจากในปัจจุบัน การขุดหินในแต่ละหลุมมีความลึกมาก ไม่สามารถนำก้อนหินขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ จึงทำให้มีการสกัดครกหินขนาดใหญ่มีน้อยมาก สำหรับก้อนหินที่ขุดขึ้นมาได้ จะถูกขายส่งให้กับพ่อค้า หรือตัวแทนจำหน่ายในหมู่บ้าน เช่น บ้านของนายหมั้ว หวานใจ อดีตผู้ใหญ่บ้านงิ้วใต้ หมู่ที่ 7 และบ้านของนายสงัด กิ่งแก้ว กำนันตำบลบ้านสาง เป็นต้น วิธีการสกัดครกหินและสาก การสกัดครกหินจะเป็นหน้าที่ของผู้ชาย ผู้สกัดจะไม่มีการร่างแบบหรือกำหนดขนาดไว้ก่อน ขั้นตอนแรกจะนำก้อนหินไปแช่น้ำก่อนที่จะสกัด ทั้งนี้เพื่อให้หินเปื่อยทำให้ง่านต่อการสกัด ต่อจากนั้นเริ่มลงมือสกัดหินด้านที่จะทำเป็นปากครกก่อนโดยสกัดให้ราบแบนด้วยเหล็กสกัดปลายแบน ต่อจากนั้นใช้ไม้บรรทัดหรือไม้ที่มีเครื่องหมายขนาดความยาว วัดหาจุดเส้นผ่าศูนย์กลาง แล้วใช้วงเวียนขีดทำเส้นรอบวงให้เห็นแนวทั้งด้านนอกและด้านใน พร้อมทั้งใช่เหล็กสกัดแบบปลายแหลมเจาะลึกเข้าไป พอได้รูปร่างและขนาดตามต้องการแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะใช้เหล็กสกัดแบบปลายโค้งแบนทำการสกัดแต่งผิว ทั้งภานในและภายนอกให้เรียบ ตามรูปแบบที่ต้องการ ส่วนการสกัดสากนั้นจะเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเป็นผู้ทำ มีวิธีการสกัดทำนองเดียวกันกับการสกัดครก โดยน้ำก้อนหินไปแช่น้ำก่อน แล้วสกัดด้วยเหล็กปลายแหลม และตามด้วยเหล็กปลายแบนแต่งให้ได้ขนาดตามต้องการ เมื่อทำการสกัดเสร็จแล้วก็จะนำไปจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือตัวแทนจำหน่ายที่รับซื้อในหมู่บ้าน การขัดแต่งครกและสาก การขัดแต่งจะเป็นหน้าที่ของพ่อค้าคนกลางหรือตัวแทนจำหน่าย โดยจะว่าจ้างคนงานมาทำให้โดยฝ่ายพ่อค้าหรือตัวแทนจำหน่ายจะเป็นผู้ลงทุนในด้านการใช้เครื่องขัดหินไฟฟ้าชนิดมือถือ ขัดแต่งผิวด้วยคาร์บอรันดัม บริเวณด้านในและปากครกที่ผ่านการสกัดมาแล้วให้เรียบ แต่บริเวณด้านนอกไม่นิยมขัด แต่จะแสดงพื้นผิวที่ขรุขระให้เห็น เป็นการป้องกันความเข้าใจผิดของลูกค้าว่าเป็นครกที่ทำหรือหล่อจากปูนซีเมนต์ ทั้งนี้เพราะสีของครกกับสีของซีเมนต์มีลักษณะคล้ายกัน นอกจากนั้นยังมีการช่วยให้ผู้ใช้สามารถจับถือได้โดยไม่ลื่นมือ สำหรับการขัดแต่งผิวสากจะนิยมขัดแต่งให้เรียบดูกลมกลึงและเกลี้ยงเกลา จากนั้นจะมีการนำครกและสากไปทาเคลือบผิวภายนอกด้วยน้ำมันวานิชให้ดูเป็นเงางาม หรืออาจมีการเขียนลวดลาย ประดับตกแต่งบริเวณด้านบนขอบปากครกด้วยปากกาเคมีก่อนแล้วจึงนำไปเคลือบผิวด้วยน้ำมันวานิชอีกครั้งหนึ่ง

สถานที่ตั้ง
บ้านหนองกะโห้
เลขที่ 27/2 หมู่ที่/หมู่บ้าน 7 ซอย - ถนน -
ตำบล ไม้งาม อำเภอ เมืองตาก จังหวัด ตาก
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นายธารา ธาราศักดิ์
ชื่อที่ทำงาน เทศบาลเมืองตาก
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน -
ตำบล ไม้งาม อำเภอ เมืองตาก จังหวัด ตาก รหัสไปรษณีย์ 63000
โทรศัพท์ 055513301 โทรสาร 055513301
เว็บไซต์ www.maingam.org
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่