ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 35' 2.9882"
16.5841634
ลองจิจูด (แวง) : E 98° 38' 2.5393"
98.6340387
เลขที่ : 43531
ครกตำข้าว_ครกมอง_นายเป็ง กาวิน
เสนอโดย - วันที่ 2 มกราคม 2553
อนุมัติโดย Takculture วันที่ 6 มิถุนายน 2555
จังหวัด : ตาก
1 603
รายละเอียด

เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว แทบทุกครัวเรือนของชาวชนบทจังหวัดทางภาคอีสานมีครกกระเดื่องใช้ตำข้าว กะเทาะเปลือกข้าวออกเป็นข้าวสารโดยทั่วไปเราเรียกครกกระเดื่องว่า"ครกมองครกกระเดื่อง" คนภาคอีสานสมัยก่อนคิดสร้างครกกระเดื่องขึ้นมาเพื่อตำข้าว อุปกรณ์สำคัญของครกกระเดื่อง คือ ครก แม่มอง สากตำข้าว เสาแอวมอง (แทนฟัลครัม) เป็นต้น ครก ใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สะแบง (ไม้ยางกราด ไม้พะยอม ไม้จิก ไม้เต็ง) เป็นต้น คนโบราณเขาห้ามใช้ไม้ประดู่มาทำครก หรือทำสากตำข้าวเพราะกลิ่นและยางไม้ประดู่จะปนเปื้อนข้าวสารแม้นึ่งสุกแล้วกลิ่นก็ยังตกค้างเหลืออยู่ และอาจทำให้ข้าวเหลืองไม่น่ารับประทาน ครกตำข้าวส่วนมากจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ปากครกฟุตครึ่งหรือสองฟุต ก้นครกจะสอบลงไปลึกประมาณฟุตครึ่ง-สองฟุต หรือกว่านั้นเล็กน้อย ปกติตัวครกจะหนา 3-5 นิ้ว เพื่อให้มีความทนทานเมื่อถูกแรงตำกระแทก ฐานครกจะฝังลึกลงไปในดินประมาณ 3-5 นิ้ว เพื่อให้ครกตั้งมั่นคง ไม่สั่นคลอน แม่มอง ทำเลียนแบบจากคานงัด ใช้ซุงมาตัดหัวท้าย ความยาวประมาณ 5-6 เมตร หรือกว่านั้นเล็กน้อย ใช้โคนซุงเป็นหัวแม่มอง และใช้ปลายซุงเป็นหางแม่มอง หรือหางมอง คนสมัยก่อนใช้ ไม้ตุมตัง (พญายา) เป็นไม้แม่มอง ไม้ตุมตังมีหนามเป็นตุ่มรอบลำต้น ช่างทำครกมองจะเกลาผิวแม่มองให้เรียบ แล้วจึงใช้สิ่วเจาะหัวมองเป็นรูสี่เหลี่ยมตามแนวตั้งสำหรับสอดสากตำข้าว และเจาะรูสี่เหลี่ยมตำแหน่งแอวมอง ตามแนวนอนสำหรับสอดเพลา อันเป็นจุดฟัลครัม ชาวบ้านทั่วไปเรียกเพลาว่า โคยมอง หรือบางแห่งเรียกไม้แอวมอง เพลาดังกล่าวนี้ทำด้วย ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ซาด (เหียง) เป็นต้น ไม้เพลาที่เสียบทะลุ แอวมอง ทั้งสองข้างจะไปฝังในรู หรือช่องปากหลวม ๆ ของเสาแอวมองที่ฝังแนบแม่มองทั้ง 2 ต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนระยะแอวมองไปถึงหัวมองและระยะแอวมองไปหาหางมองไม่เท่ากัน กล่าวคือ 3 ส่วน อยู่ทางหัวมอง และอีก 2 ส่วน อยู่หางมอง คนเหยียบหางมองไม่ต้องออกแรงมากจนเกินไป นับว่าเป็นความชาญฉลาดของคนโบราณ (คงไม่ไช่ อาร์คีมีดีส หรอกนะ)สากตำข้าว เป็นอุปกรณ์ประกอบครกกระเดื่องที่สำคัญมาก ตามปรกติสากตำข้าวจะมีอยู่ 3 ชนิด ขนาดเล็กเรียกว่า สากตำ หรือบางแห่งเรียก สากย่าใช้ตำในยกแรก ขนาดกลางเรียกว่า สากต่าว ใช้ตำในยกที่ 2 และขนาดใหญ่เรียกว่า สากซ้อม ตามปรกติสากตำข้าวแต่ละชนิดเขาจะใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้พะยุง ไม้ตะเคียน เป็นต้น บางแห่งก็ใช้ไม้ยาง ไม้กระบก ไม้กระบาก และไม้สะแกแก่ ๆเพราะหาได้ง่ายกว่า ห้ามใช้ไม้ประดู่ อุปกรณ์ของครกกระเดื่องที่สำคัญอีกสองอย่างคือ ลิ่มหัวมองใช้ตอกบังคับกันสากตำข้าวหลุด และต้นเสาที่ฝังไว้ข้าง ๆ หางมอง เพื่อให้คนตำขัาวจับยึดประคองตัวกันหกล้ม และดึงเพื่อให้มีแรงกดหางมองได้อย่างเต็มที่ การตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง ตามปกติมักช่วยกัน 2-3 คน เวลาตำให้คนหนึ่งเหยียบที่ปลายหางมอง ที่เหลือเหยียบด้านข้างถัดเข้ามาและหันหน้าเข้าหากัน จะได้เบาแรง ส่วนผู้หญิงทำหน้าที่ฝัดข้าว คัดแกลบและรำออกจากข้าวสารด้วยแรงลมนับว่าเป็นความชาญฉลาดของ ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างหนึ่ง ถ้ามีเมล็ดข้าวหักมีปลายข้าวมากเขาก็จะใช้วิธีกระทกกระด้ง ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า ไซ้ข้าว ให้ปลายข้าวมาจับกลุ่มรวมกันที่ขอบกระด้งและสามารถฝัดลงบนพื้นเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงในบ้านได้ เมื่อประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว สมัยที่ยังไม่มีโรงสีข้าว ชาวบ้านจะตื่นขึ้นมาตำข้าวด้วยครกกระเดื่องตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา เป็นการออกกำลังกายที่ได้งานด้วย มอง หมายถึง ท่อนไม้ขนาดใหญ่ อย่างที่ใช้ทำเป็นเสาสำคัญในการสร้างฝาย แต่โดยปกติแล้ว จะหมายถึงเครื่องมือที่ใช้ตำข้าวของชาวบ้านทั่วไป ประกอบด้วยไม้ครกทำจากขอนขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งกับตัวมองซึ่งเป็นกระเดื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อทุ่นแรงแและสะดวกในการตำข้าวอีกส่วนหนึ่ง ตัวมองประกอบด้วยไม้ท่อนหนึ่ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔ เมตร ทำหน้าที่เป็นกระเดื่องใช้ตำข้าว เรียกว่า มอง หรือ แม่มอง ทำจุดหมุนเพื่อการกระดกไว้กับตัวมองโดยค่อนมาทางหางมองโดยมีแกนสอดจากแม่มองไปสอดเข้ากับรูของไม้ที่ปักอยู่ข้าง ๆ ซึ่งเรียกปีกมอง เมื่อเหยียบหรือมีน้ำหนักหรือแรงกดที่หางมอง แม่มองจะกระดกขึ้นสูงประมาณ ๑ เมตร เมื่อปล่อยหางมองแล้ว มองก็จะตกลงมาทำให้ไม้ที่ทำเป็นสากครกที่เสียบแน่นอยู่ที่หัวแม่มองกระแทกลงเพื่อตำข้าว ตามตำราโบราณว่าด้วยการทำมองนั้น ท่านให้เอาตอกมาเวียนรอบศีรษะของผู้เป็นเจ้าของแล้ว ใช้ตอกนั้นวัดจากหัวหรือปลายสุดของมองเข้าไป ถ้าถึงที่ไหนก็ให้เจาะรูสำหรับสอดสากในที่นั้น จากนั้นใช้ช่วงเท้าเจ้าของวัด โดยวางเท้าสลับซ้ายขวาจากรูเสาไปจนถึงหางมอง พร้อมทั้งกล่าวคำโฉลกกำกับทุกช่วงเท้าจนไปถึงความยาวที่ต้องการและได้โฉลกที่ดีแล้วจึงเจาะรูเพื่อสอดปีกมองหรือแกนหมุนของครกกระเดื่องในที่นั้น ทั้งนี้ โฉลกมอง มีดังนี้ ไร้ต่อเถ้า (ไม่ดี) | อยากเข้าทุกปี (ไม่ดี) | บ่อยากเข้าสักปี (ดี) | เปนดียิ่งกว่าท่าน (ดี) | อยู่บ้านบ่เจ็บไข้ (ไม่ดี) | ท่านไว้กูเปนดี (ดี) | มีบ่รู้เสี้ยง (ดี) วิธีใช้ ชาวบ้านจะเหยียบปลายหางของมองเพื่อให้หัวมองให้ลอยขึ้นจากครก แล้วค้ำด้วยไม้ค้ำไว้เสียก่อน แล้วจึงเทข้าวเปลือกที่ต้องการจะตำลงไปในครก จากนั้นจะเริ่มตำข้าวโดยใช้เท้าข้างหนึ่งเหยียบให้น้ำหนักตัวกดลงบนหางมอง เมื่อหัวมองยกขึ้นถึงจุดที่สูงที่สุดแล้วก็จะปล่อยให้ตกลงมา น้ำหนักของมองจะถ่ายลงบนสากเพื่อไปตำข้าว ชาวบ้านจะเหยียบหางมองแล้วปล่อยเป็นจังหวะ ๆ ไปเรื่อย ๆ ในกรณีที่สาว ๆ จะอยู่นอก หรือทำงานตอนกลางคืนเพื่อให้หนุ่มไปเยือนนั้นอาจมีหญิงสาวหลายคนรวมตัวกันตำข้าวและอาศัยแรงงานของหนุ่มทั้งหลายให้ช่วยตำข้าวด้วย พบว่าในตอนเริ่มงานดังกล่าวนั้นกลุ่มสาวอาจ "แดะหางมอง" หรือเหยีบบครกกระเดืองแล้วปล่อยให้มีจังหวะถี่เร็วเป็นสัญญาณว่าบรรดาสาว ๆ เริ่มตำข้าวแล้วและหนุ่มก็มักจะไปจีบสาวในที่นั้น ซึ่งก็หมายความว่านอกจากจะได้ข้าวสารและแกลบตามปกติแล้วก็อาจได้ไมตรีระหว่างหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นอีกด้วย สากที่ใช้ในการตำเพื่อให้เปลือกข้าวแตกออกจากเมล็ดข้าวนั้นเรียกว่า สากกล้อง มีลักษณะเป็นไม้ท่อนขนาดเขื่องและหัวตัด เมื่อตำข้าวโดยใช้สากกล้องไประยะหนึ่งแล้วชาวบ้านจะนำข้าวขึ้นมาผัดด้วยกระด้ง เพื่อแยกเปลือกข้าวที่หลุดแล้วออกไป จากนั้นจึงตำใหม่โดยใช้สากซ้อม คือสากที่มีส่วนหัวมนและขนาดย่อมเพื่อแยกแกลบและเม็ดข้าวสารต่อไป ในการตำข้าวนั้น นิยมทำราวไว้บริเวณหางมองเพื่อไว้เกาะเพื่อทรงตัวในขณะเหยียบมองตำข้าวไว้ด้วย มอง หรือครกมองนี้ นอกจากจะใช้ตำข้าวแล้ว ยังอาจใช้ตำอย่างอื่นด้วย เช่น ตำหยวกกล้วยเพื่อต้มเป็นอาหารหมู ตำเฝ่าหรือดินขับอย่างที่ใช้ในการทำบอกไฟหรือพลุ เป็นต้น ทั้งนี้ ครกมอง หรือครกที่ใช้รองรับมองนั้นก็มีวิธีวัดโฉลกไว้ด้วย โดยเริ่มที่ 2 ศอกกับ 1 ฝ่ามือโฉลกต่อ 1 คำ มีดังนี้ 2 สอก ปลายฝ่ามือ ชื่อว่าโขงชุมพูมาเฝ้า เข้าล้นขื่อยุท่างกิน | 2 สอกปลาย 2 ฝ่ามือ ชื่อว่า พิษงูงอด | 2 สอกปลาย 3 ฝ่ามือ ชื่อว่า กอดขุมฅำ | 2 สอกปลาย 4 ฝ่ามือ ชื่อว่า ชุมพูพื้นน้ำ เข้าบ่ซ้ำยุท่างกินแลทาน

สถานที่ตั้ง
บ้านห้วยมหาวงค์
เลขที่ 79 หมู่ที่/หมู่บ้าน 9 ซอย - ถนน -
ตำบล มหาวัน อำเภอ แม่สอด จังหวัด ตาก
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นายวิญญู ไทยอู่
ชื่อที่ทำงาน องค์การบริหารส่วนตำบลมหาวัน
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน -
ตำบล มหาวัน อำเภอ แม่สอด จังหวัด ตาก รหัสไปรษณีย์ 63110
โทรศัพท์ 055559053 โทรสาร 055559053
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่