ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 32' 53.9999"
13.5483333
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 16' 23.9999"
100.2733333
เลขที่ : 58224
วัดป้อมวิเชียรโชติการาม
เสนอโดย admin group วันที่ 12 พฤษภาคม 2554
อนุมัติโดย สมุทรสาคร วันที่ 12 กันยายน 2555
จังหวัด : สมุทรสาคร
0 1217
รายละเอียด

วัดป้อมวิเชียรโชติการามสร้างมาประมาณ 200 ปีเศษ (ประมาณ พ.ศ.2323) หรืออาจก่อนหน้านั้น ซึ่งยังไม่มีหลักฐาน เข้าใจว่าเดิมเป็นชุมชนของชาวรามัญ ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาจึงได้สร้างวัดขึ้นและตั้งชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้าน หรืออาจสร้างวัดขึ้นพร้อมกับป้อมปราการ ซึ่งก็คือ “ป้อมวิเชียรโชฎก” ได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อพ.ศ.2539

ปรับปรุงข้อมูล ครั้งที่ ๑*

วัดป้อมวิเชียรโชติการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ ๘๕๗ บ้านป้อม ถนนเจษฎา ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๙ ไร่ ๗๖ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๗๗๐๐ อาณาเขต ทิศเหนือ จดถนนสรศักดิ์ ทิศใต้ จดแม่น้ำท่าจีน ทิศตะวันออก จดถนนเจษฎาและสถานที่ราชการ ทิศตะวันตก จดที่ดินเอกชน มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๒ แปลง เนื้อที่ ๓๖ ไร่ ๒ งาน ๑๐ ตารางวา อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร (ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๔ กำลังก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ทดแทนหลังเก่า ในพื้นที่เดิม) ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๕ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สูง ๒ ชั้น ศิลปะทรงไทยประยุกต์ กุฏิสงฆ์ จำนวน ๑๐ หลัง เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๐ เมตร ตึก จำนวน ๑ หลัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สูง ๓ ชั้น กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๕๖ เมตร ศาลาอเนกประสงค์ จำนวน ๒ หลัง เป็นอาคารโครงเหล็กปิดทับด้วยไม้ เพดานสูง พื้นปูด้วยกระเบื้อง กว้าง ๒๒ เมตร ยาว ๓๕ เมตร ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน ๘ หลัง สร้างด้วยคอนกรีตทั้งหมด นอกจากนี้มี อาคารเสนาสนะต่างๆ ดังนี้ คือ หอพระไตรปิฎก หอสวดมนต์ หอฉัน จำนวน ๑ หลัง ชั้น ๓ เป็นหอพระไตรปิฎก ชั้น ๒ เป็นหอสวดมนต์ ชั้นล่าง เป็นหอฉัน สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง กว้าง ๗.๖๐ เมตร ยาว ๓๗ เมตร โรงเรียนพระปริยัติธรรม จำนวน ๑ หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ศิลปะทรงไทยประยุกต์ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๓๘.๔๐ เมตร สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร (อนุสรณ์พระรามัญมุนี) กว้าง ๑๒.๘๐ เมตร ยาว ๒๑.๖๕ เมตร หอกลอง จำนวน ๑ หลัง กว้าง ๒ เมตร ยาว ๒ เมตร หอระฆัง จำนวน ๑หลัง กว้าง – เมตร ยาว ๒ เมตร โรงครัว ๑ หลัง ศาลาฌาปนสถาน จำนวน ๘ หลัง ฌาปนสถาน ๑ หลัง ปูชนียวัตถุมี พระประธานประจำอุโบสถ เป็นพระพุทะรูปเนื้อโลหะ สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระพุทธรูปสร้างด้วยศิลาแดง ที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อแดง”

วัดป้อมวิเชียรโชติการาม ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๓ เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาแล้วประมาร ๒๐๐ ปีเศษ แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด เป็นที่อยู่ของชุมชนรามัญซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี โดยที่ชาวรามัญเป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด เมื่อมาอยู่รวมกันแล้วอาจสร้างวัดข้นเพื่อเป็นที่ประกอบพิธีทางสาสนา และตั้งชื่อวัดตามหมู่บ้าน หรืออาจสร้างวัดขึ้นพร้อมกับป้อมวิเชียรโชฎก ซึ่งปรากกว่า ตามหลักฐานการสร้างป้อมตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความ สมเด้จพระปรมานุชิตชิโนรส ตอนหนึ่งว่า “จุลศักราชได้ ๑๐๘๓ (พ.ศ. ๒๒๖๔) ปีฉลู ตรีศก พระเจ้ากรุงเทพมหานครเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเบ็ดที่ปากน้ำท่าจีน เมื่อถึงคลองมหาชัย เห็นคลองนั้นยังขุดไม่แล้วค้างอยู่ ครั้นทรงเบ็ดแล้วกลับคืนมาถึงพระนคร จึงทรงกรุณาตรัสสั่งให้พระราชสงครามเป็นนายกลอง ให้กะเกณฑ์คนหัวเมืองปักษ์ใต้แปดหัวเมือง ให้คนสามหมื่นเศษสี่หมื่นไปขุดคลองมหาชัย จึงให้ฝรั่งส่องกล้องแก้วดูให้ตรงปากคลองปักกรุยลงเป็นสำคัญ ทางไกลสามร้อยยี่สิบเส้นให้ขุดคลองลึกหกศอก กว้างแปดวาเท่าเก่า เกณฑ์กันเป็นหน้าที่ คนสามหมื่นขุดสองเดือนเศษจึงแล้ว พระราชสงคราม กลับมาเฝ้ากราบทุลพระกรุณาให้ทรงทราบทุกประการ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้ทราบ ทรงปิติปราโมทย์ จึงตั้งพระราชสงครามให้เป็น “พระยาราชสงคราม” แล้วพระราชทานเจียดทอง เสื้อผ้าเงินตามเป็นอันมาก คลองนั้นได้ชื่อ “คลองมหาชัย” ตราบเท่าทุกวันนี้ ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ยกเมืองสาครบุรีขึ้นกรมเจ้าท่า ความปรากฏตามประชุมพงศาวดารฉบับความของหลวงตรีวิจิตรวาทการว่า “......แบ่งหัวเมืองขึ้น กลาโหม ,มหาดไทย ,กรมเจ้าท่าในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ...........ยังคงเมืองขึ้นกรมท่าอีก ๘ เมือง ๕อ เมืองนนทบุรี ๑ เมืองสมุทรปราการ ๑ เมืองสาครบุรี ๑ .....” สร้างป้อมวิเชียรโชฎก และขุดคลองสุนัขหอน พ.ศ. ๒๓๗๑ ในสมัยแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า “......ที่เมืองสาครบุรี ก็โปรดให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) ไปทำป้อมที่ทางร่วมริมคลองมหาชัย ๑ ครั้นแล้วโปรดให้ชื่อ “ป้อมวิเชียรโชฎึก” ค่าแรงจีนถือปูนเงิน ๔๗ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง โปรดให้ยกเอาครัวมอญในเจ้าพระยามหาโยธา ซึ่งไปตั้งทำมาหากินอยู่ที่เมืองสาครบุรี เจ้ากรมป้อมชื่อหลวงพหลมหึมา ขุนเดชชำนาญ ปลัดกลอง แล้วโปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง เป็นแม่กอง ไปขุดคลองสุนัขหอน เจ้าพระยาพระคลังวิเคราะห์ดูเห็นว่า น้ำชนกันตรงนั้นคงตื้นเขินทุกแห่ง ถ้าขุดคลองแยกเข้าไปที่น้ำชนนั้นก็จะไม่ตื้นเขิน จึงจ้างจีนขุดที่ชน แยกเข้าไปทุ่งริมบ้านโพธิหักสายหนึ่ง แล้วขอแรงกระบือราษฎรชาวบ้านลงลุยในคลองนั้น น้ำขึ้นลงเชี่ยวก็ลึกอยู่ได้ ไม่ตื้นมาจนทุกวันนี้ สิ้นเงินค่าแรงจีนขุดเป็นเงิน ๑๒๐ ชั่ง ๔ ตำลึง ๑ สลึง ๑ เฟื้อง.....” ปัจจุบันป้อมวิเชียรโชฎึกแม้จะทรุดโทรมไปบ้าง แต่ก็ยังมั่นคงแข็งแรงได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ และสวนสุขภาพ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า เมื่อได้สร้างป้อมวิเชียรโชฎึก และหมู่บ้านขึ้นแล้วถึงได้สร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นที่ประกอบบุญกุศล ตามแบบอย่างของผู้นับถือพุทธศาสนา วัดป้อมวิเชียรโชติการาม ชาวบ้านมักเรียกว่า “วัดบ้านป้อม” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ติดกับป้อมวิเชียรโชฎึก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ปีพุทธศักราช ๒๓๒๘ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ผูกพัทธสีมา ปีพุทธศักราช ๒๔๑๘ พระมหาสมัย กมโล เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ได้เริ่มปรับปรุงวัด ตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๐๘ เป็นต้นมา ซึ่งเดิมที่วัดเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังตลอดปีและการคมนาคมใช้ได้เพียงทางเรืออย่างเดียวเสนาสนะชำรุดทรุดโทรม จึงได้ก่อสร้างกุฏิสงฆ์ทรงไทย ยกพื้นสูง เพื่อหนีน้ำท่วม โดยก่อสร้างด้วยไม้ จำนวน ๑๐ หลังล้อมรอบหอฉัน และหอสวดมนต์ ซึ่งก่อสร้างด้วยไม้เช่นกัน การสร้างวัดในลักษณะนี้ เป็นรูปแบบการก่อสร้างวัดแบบชาวรามัญ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับการยกย่องเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง จากกรมการศาสนา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ พระรามัญมุนี (พระมหาสมัย กมโล) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๖) ได้มรณภาพลงพระครูวิเชียรโชติคุณ (สมพงษ์ สุวโร) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้เริ่มทำการพัฒนาวัดอีกครั้งในต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยยกกุฏิสงฆ์ทั้ง ๑๐ หลัง หอฉัน หอสวดมนต์ หอพระไตรปิฎก ให้สูงขึ้น ถมพื้นวัดทั้งหมดเพื่อป้องกันน้ำท่วม และทำการตบแต่งกุฏิชั้นล่างเป็นหอฉัน เพื่อให้ใช้สอยประโยชน์ได้มากที่สุด ปรับปรุงบริเวณวัดด้วยการปลูกต้นไม้ให้มีความสวยงามรื่นรมย์และปูอิฐตัวหนอนทางเดินภายในวัด เพื่อความสะดวกสบายแก่ผู้ที่มาบำเพ็ญกุศลที่วัด และใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมของคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสาคร โดยใช้เป็นทั้งสถานที่ประชุม สถานที่สอบธรรมสนามหลวง และสนามสอบบาลีสนามหลวง เป็นประจำทุกปี เมื่อมีการพัมนาวัดด้านเสนาสนะได้แล้วเสร็จ พระมหาสมัย กมโล ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมืองสมุทรสาครได้ห่วงใยการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ – สามเณรในเขตจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งไม่แพร่หลาย มีเพียงการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม ส่วนการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี มีเพียง ๒ วัดเท่านั้น จึงได้เปิดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ มีจำนวนนักเรียนประมาณ ๔๐ รูป มี ๓ ชั้นเรียน คือชั้นบาลีไวยากรณ์ประโยค ๑ – ๒ และเปรียญธรรม ๓ ประโยค ปีต่อๆมา ได้มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆปัจจุบัน เปิดสอนถึงชั้นประโยค ป.ธ. ๖ ส่วนประโยค ป.ธ. ๗ – ๘ – ๙ ทางวัดได้สนับสนุนโดยการจัดรถรับ – ส่ง ไปเรียนที่วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันสำนักเรียนวัดป้อมวิเชียรโชติการาม ได้รับการแต่งตั้งเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำจังหวัดสมุทรสาคร

วัดป้อมวิเชียรโชติการาม ได้พัฒนาวัดเป็นลำดับมาจนได้รับการยกย่อง คือ วัดพัฒนาตัวอย่าง จากกรมการศาสนา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ วัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่น จากกรมการศาสนา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ปีพุทธศักราช ๒๓๒๘ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือรูปที่ ๑ พระอุปัชฌาย์ทอง รูปที่ ๒ พระครูสาครคุณาธร รูปที่ ๓ พระมหาเข็ม โชติปาโล รูปที่ ๔ พระรามัญมุนี (สมัย กมโล) พ.ศ. ๒๔๙๘ ๒๕๓๗ รูปที่ ๕ พระครูวิเชียรโชติคุณ (สมพงษ์ สุวโจ) พ.ศ. ๒๕๓๗ – ปัจจุบัน การศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๓ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘

หมวดหมู่
ศาสนสถาน
สถานที่ตั้ง
วัดป้อมวิเชียรโชติการาม
เลขที่ 857 หมู่ที่/หมู่บ้าน -
ตำบล มหาชัย อำเภอ เมืองสมุทรสาคร จังหวัด สมุทรสาคร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
*หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21
บุคคลอ้างอิง กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่