ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยย้อ ทำในวันออกพรรษาคือ วันขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ชาวบ้านจะช่วยกันสร้าง และตกแต่งปราสาทผึ้งให้สวยงาม โดยใช้ไม้ไผ่เป็นโครงและรูปร่างปราสาท แล้วนำต้นกล้วยหรือกาบกล้วยทำเป็นหลังคา แกะสลักเป็นลวดลายไทย แล้วนำขี้ผึ้งมาละลายหลอมเป็นรูปดอกไม้ โดยใช้แม่พิมพ์จากมะละกอสลักเป็นลวดลายที่ต้องการ นำไปจุ่มในขี้ผึ้งเหลว แล้วแช่ลงในน้ำให้ขี้ผึ้งแห้ง นำไปเสียบบนปราสาทผึ้ง ตัวองค์ปราสาทจะมีขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน บางคนใช้ต้นกล้วยมาปักด้วยดอกขี้ผึ้ง แล้วนำไปถวายวัดเลยก็ได้ การทำปราสาทผึ้งจะทำตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๘.๐๐ - ๑๖.๐๐ นาฬิกา ในแต่ละตำบลในอำเภออรัญประเทศจะมีปราสาทผึ้งหลายองค์
การทำปราสาทผึ้งขึ้นอยู่กับความศรัทธา บ้านใดมีฐานะดีก็จะทำเพียงคนเดียว ถ้าฐานะปานกลางหรือยากจน ก็จะรวมกันหลายครัวเรือนแล้วทำปราสาทหนึ่งองค์ องค์ปราสาทผึ้งจะตกแต่งด้วยโคมไฟ และนำสบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก สมุด ดินสอ ผ้าสบงและเงิน นำมาติดกับปราสาท ในเวลาเย็นชาวบ้านจะนำปราสาท ผึ้งแห่จากบ้านไปยังวัดมีการจัดขบวนแห่ และแต่งกายแบบดั้งเดิมแห่ไปที่วัด เมื่อไปถึงจะแห่รอบอุโบสถสามรอบแล้วนำขึ้นไปตั้งบนศาลา บางตำบลจะมีการประกวดปราสาทผึ้ง
หลังจากนิมนต์พระเก้ารูป หรือนิมนต์พระทั้งวัดมาทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์เย็น เป็นการเฉลิมฉลองปราสาทผึ้ง เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับเจ้าของปราสาทผึ้ง และคนทั่วไป จากนั้นจะถวายปราสาทผึ้งเป็นพุทธบูชา ในวันรุ่งขึ้นคือวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสิบเอ็ด หลังจากพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเช้าแล้ว
ชาวไทยย้อเชื่อว่า การกถวายปราสาทผึ้งมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยพระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชาแห่งกรุงสาวัตถี ได้ถวายปราสาทผึ้งแก่พระพุทธเจ้า ในวันออกพรรษาทุกปี และผู้ใดถวายปราสาทผึ้งจะได้มีอานิสงฆ์ หกประการคือ เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป เกียรติปรากฎรุ่งเรืองในสังคม เป็นคนกล้าหาญในสังคมมนุษย์ มีสติปัญญา มีสติสัมปชัญญะ ตายแล้วไปสู่โลกสวรรค์ ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงให้พุทธศาสนิกชน ทำเป็นประเพณีถวายพระสงฆ์ทุกปี และปฎิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน