ขึ้นท้าวทั้งสี่ หรือภาษาเหนือว่า “ขั้นต้าวตังสี่” นั้น เป็นพิธีกรรมอันแรกที่ชาวเหนือจะทำก่อนพิธีกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าเป็นการปลูกบ้านปลูกเฮือน งานปอยหลวง ปอยน้อย ทำบุญเฉลิมฉลองต่าง ๆ ก็ต้องทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ก่อนอื่น ท้าวทั้งสี่ก็คือ ท้าวจตุโลกบาล ซึ่งหมายถึงท้าวมหาราชสี่องค์อันประจำอยู่บนสวรรค์ชั้นต้น มีท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหกและท้าวกุเวร การขึ้นท้าวทั้งสี่เป็นการขอให้เกิดสิริมงคลให้เกิดขึ้น พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่จะต้องบอกเทวดาผู้รักษาทิศทั้งสี่ให้รับรู้เสียก่อน ส่วนที่ ๆ จะขึ้นท้าวทั้งสี่นั้นจะต้องเลือกมุมทางทิศตะวันออกของบ้านหรือสถานที่จะทำพิธีสถานที่จะทำพิธีมงคลที่เลือกเอาทิศตะวันออกเพราะชาวเหนือนิยมนอนเอาหัวไปทางทิศตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นทิศที่ดี หมายถึงความรุ่งโรจน์เป็นมงคล เสาขึ้นท้าวทั้งสี่ ถ้าเป็นวัดหรือบ้านที่เป็นที่ถาวรจัดงานมงคลทุกปี ก็จะมีเสา “ท้าวทั้งสี่” เป็นเสาไม้ถาวรไปเลยทีเดียว ถ้าเป็นที่ ๆ ไม่เคยทำก็มักจะใช้ท่อนกล้วยมาทำเป็นเสาทั้งต้นไม่สูงมากนัก มีไม้ไขว้ทำเป็นรูปกากบาท มีฐานสำหรับวาง “สะตวง” (กระทงทำด้วยกาบกล้วยมีไม้เสียบ ปูด้วยใบตวงกล้วย) เครื่องสังเวยเทวดาทั้งสี่ทิศ เครื่องสังเวยก็มีดอกไม้ ธูปเทียน หมากเมี่ยง ปูรี (บุหรี่) ขนม ข้าวต้ม จ้อ (ช่อ - ทำเป็นธงสามเหลี่ยมด้วยกระดาษต่าง ๆ) ใส่ “สะตวง” วางไว้ที่ปลายไม้ที่ชี้ไปทั้งสี่ทิศและตรงกลางเสาซึ่งจะสูงกว่าฐานไม้ที่รอง “สะตวง” ประมาณสองคืบเศษเป็น “สะตวง” ใหญ่สำหรับพระอินทร์ ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประมุขของเทวดาทั้งหลายที่อยู่เบื้องล่าง เหนือสะตวงก็มีกระดาษตกแต่งเป็นคล้าย ๆ “สัปทน” เล็ก ๆ กางให้ ส่วนฐานล่างสุดติดดินก็จะวางกระทงสะตวงให้พระแม่ธรณีสะตวงหนึ่ง รวมทั้งหมดมี ๖ สะตวงด้วยกัน การทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่จะมี “ปู่อาจารย์” เป็นคนทำพิธี จุดธูปเทียนบอกกล่าวและร่ายโองการจาก “ปั๊ปหนังสา” (สมุดข่อย) บนบานศาลกล่าวไปตามพิธีการ