หน่อกะลา หรือข่าน้ำ
หน่อกะลา หรือข่าน้ำมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรที่อยู่ในวงศ์ (Zingiberaceae) อยู่ในวงศ์เดียวกันกับข่า และเร่ว แต่เร่วมีความต่างทางสายพันธุ์ หน่อกะลาเป็นไม้เนื้ออ่อนที่ขึ้นได้ทั้งบนบกและริมน้ำหรือที่ที่มีน้ำขัง ส่วนมากมักจะขึ้นในท้องร่องสวน ลำต้นเทียม สูง ๑. ๕ - ๒ เมตร แตกกอแน่น ใบเดี่ยวเรียงสลับเป็นสองแถว ใบรูปขอบขนาน ช่อดอกออกที่ปลายใบ เป็นช่อแยกแขนง ลักษณะช่อดอกจะยาว กลีบดอกเป็นสีขาวอมชมพู ก่อนช่อดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จะมีผลกลมสีเขียวขนาดเท่าเมล็ดบัว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและสีดำในที่สุด เหง้ามีรสจืดและมีกลิ่นที่อ่อนกว่าข่า มีชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นต่างๆ เช่น ประเทศอินเดียเรียกว่า ทาลังคา ทาลูโค ส่วนในประเทศไทย คนไทยเชื้อสายรามัญ(มอญ) โดยทั่วไปเรียกว่าต้นกูม คนไทยเรียกว่าต้นกะลา และเมื่อนำหน่อมารับประทานจึงเรียกว่า หน่อกะลาหรือข่าน้ำ
พบพืชชนิดนี้โดยทั่วไปในดินเลนบริเวณร่องสวน และที่มีน้ำเฉอะแฉะ บนพื้นที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี หน่อกะลาเป็นพืชสมุนไพรที่ช่วยขับลม แก้ร้อนใน ชาวบ้านในเกาะเกร็ดมักจะนำมาประกอบอาหารหลายชนิด เช่น ทอดมันกะลา ต้มจิ้มน้ำพริก หรือใช้แทนข่าสำหรับทำต้มยำ เหง้า และดอกของหน่อกะลาสามารถใช้พอกแผลแก้ผื่นคันตามผิวหนัง เพราะมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยายืนยันได้ว่า เป็นภูมิปัญญาไทยที่กล่าวว่าสามารถยับยั้งเชื้อราบนผิวหนังและหนองฝีได้หลายชนิด ผลรักษาโรคท้องอืด แน่น เฟ้อ จุกเสียด รากรักษาอาการหืดหอบ
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ใบของหน่อกะลามีน้ำมันหอมระเหย ในน้ำมันหอมระเหย มีสาร Bornoel Camphor Bornyl Acetate Palmitic acid and Vanillic acid และมีผู้ศึกษาสมบัติการเป็นพืชสมุนไพร (medicinal plant) ของหน่อกะลา ได้ข้อมูลในเบื้องต้นที่น่าสนใจหลายประการ ผลจากการวิจัยคุณสมบัติ ในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากหน่อกะลา พบว่า ระดับแอคติวิตีของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ได้แก่ คะตะเลส ซุปเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส แอสคอร์เบตเพอร์ออกซิเดส และกลูทาไธโอนรีดักเทส มีค่าอยู่ในระดับใกล้เคียง หรือสูงกว่าพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณต้านการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ ขมิ้นอ้อย กระทือ ไพล ขิง และขมิ้นชัน
หน่อกะลาสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด คนไทยจะรับประทานไม่เป็น จึงถือเป็นอาหารพื้นเมืองของชาวมอญดั้งเดิม เช่นนำมาแทนถั่วฝักยาวในทอดมัน สามารถใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก ทั้งรับประทานสดหรือนำมาต้ม อาจใช้ใส่ในแกงส้ม ห่อหมก ผัดกะเพรา แกงคั่วหอย ผัดเผ็ดปลา และอื่นๆ อีกมากมาย ที่มาของชื่อพื้นเมืองอีกอย่างของหน่อกะลาก็คือ ข่าน้ำ เพราะสามารถใช้แทนข่าจริงๆ เพื่อใช้ในการต้มยำ หรือต้มข่าไก่ บ้างก็จะทุบหน่อกะลาให้แตก เพื่อให้ชุ่มน้ำต้มข่า รสชาติจะแปลกไปอีกแบบ ไม่เหมือนกับใส่หัวปลี
ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า ถ้ามีคนมอญที่ไหนต้นกะลาจะต้องมีที่นั่น เพราะเป็นสมุนไพร รักษาได้ทุกโรค ความเชื่อของชาวมอญเชื่อว่า รับประทานหน่อกะลาแล้วท้องไส้จะสบาย เพราะ มีสรรพคุณ ขับลมเหมือนขิง ข่า ขมิ้น และยังไปช่วยกวาดลำไส้ทำให้ขับถ่ายสะดวก ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ จึงถือเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ทรงคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์และทำวิจัยขั้นสูงต่อไป