ประวัติหมู่บ้านป่าอ้อย อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน
ที่ตั้ง
บ้านป่าอ้อยตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบล ป่าแลวหลวง อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน อยู่ห่างจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ป่าแลวหลวงระยะทาง 2 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอสันติสุข ประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดน่าน ระยะทาง 32 กิโลเมตร
ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาของบ้านป่าอ้อย ไม่ปรากฏหลักฐานการยืนยันที่แน่ชัด แต่ได้จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคนจนถึงลูกหลานพอจะสันนิษฐานได้ว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.2311 ได้มีผู้คนกลุ่มหนึ่งเป็นคนมาจากเมืองออย จังหวัดเชียงราย ได้อพยพหนีภัยสงครามมาตั้งรกรากถิ่นฐานและได้ตั้งหลักแหล่งเป็นหมู่บ้านขึ้น ได้ดำรงชีวิตอยู่โดยการทำไร่ ทำนา และได้ปลูกอ้อยขายเป็นอาชีพ เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้มีการปลูกอ้อยและทำนาอ้อยขายเป็นส่วนใหญ่ และพื้นเพเดิมก็เป็นคนมาจากเมืองออย จึงได้เป็นที่มาของคำว่า บ้านป่าอ้อย
สภาพภูมิศาสตร์
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านป่าแลว
ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลพงษ์และบ้านภูแยง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านอภัยคีรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านแก่งโสภา
พื้นที่ทั้งหมดมีเนื้อที่ประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่การเกษตร ประมาณ 600 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัยประมาณ 200 ไร่ เป็นป่าชุมชนประมาณ 50 ไร่ และเป็นพื้นที่ยังไม่ได้รับเอกสิทธิ์อีกประมาณ 20 ไร่
การคมนาคมและการสื่อสาร
เส้นทางการคมนาคมจากจังหวัดน่านถึงบ้านป่าอ้อย ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดิน สายน่าน-น้ำยาว ถึงป่าอ้อยเป็นระยะทาง 32กิโลเมตร มีรถยนต์โดยสารประจำทางสายน่าน-สันติสุข วิ่งรับส่งการสื่อสาร บ้านป่าอ้อยได้รับบริการสื่อสารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขดู่พงษ์ และในหมู่บ้านมีการติดตั้งโทรศัพท์ประจำหมู่บ้าน จำนวน 140 กว่าหลังคาเรือน
การสาธารณูปโภค
มีไฟฟ้าจากการฟ้าส่วนภูมิภาคและมีน้ำประปาหมู่บ้าน 1 แห่ง มีหอกระจ่ายข่าวประจำหมู่บ้านมีบ่อน้ำมีใช้บริโภค 86 บ่อ มีถนนคอนกรีต เสริมไม้ไผ่ภายในหมู่บ้านทุกตรอกและทุกซอย ได้รับบริการด้านสุขภาพจากสถานีอนามัยตำบลป่าแลวหลวงและโรงพยาบาลสันติสุข
ประชากร
ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยลื้อและไทยยวน เรียกตนเองว่า “คนเมือง” มีประชากรใน
หมู่บ้านทั้งหมด 637 คน เป็นชาย 318 คน เป็นหญิง 319 คน ประชากรพูดภาษาลื้อ หรือ
ภาษาพื้นเมือง การอพยพของประชากรส่วนใหญ่เข้าไปทำงานในกรุงเทพมหานครและต่าง
จังหวัด อาชีพ และรายได้ของประชากรส่วนใหญ่ทำการเกษตร เช่น ปลูกข้าวโพด ปลูกถั่วลิสงและข้าวไร่ รายได้ของประชากรส่วนใหญ่จากผลิตผลทางการเกษตร เฉลี่ยครอบครัวละ
ประมาณ 30,000 บาท/ปี
การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี
-บ้านป่าอ้อยมีโรงเรียนประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา
ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
-ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่มีความเชื่อทางไสยศาสตร์หมอผี ซึ่งจะมีพิธีกรรมต่างๆเพื่อให้เกิดการผ่อนคลายความทุกข์และความทุกข์และความสบายใจตามความเชื่อ เช่น การส่งเคราะห์สืบชะตาเรียกขวัญ(สู่ขวัญ) การเลี้ยงผีปู่ย่า
-บ้านป่าอ้อยมีวัดประจำหมู่บ้าน 1 วัด ชื่อวัดป่าอ้อย
-การกินนิยมกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก และมีอาหารหลักที่นิยม คือ ลาบ หลู่ ส้า ก้อยเนื้อ
-วัฒนธรรมการแต่งกาย ในสมัยก่อนการแต่งกายผู้ชายสวมกางเกงขาก๊วย(เตี่ยวสามดูก) สวมเสื้อม่อฮ้อม ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นทอพื้นเมือง(ซิ่นคอก่าน) ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม
ภูมิปัญญาท้องถิ่นและบุคคลสำคัญ
ในหมู่บ้านป่าอ้อยมีผู้ประกอบการซึ่งสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษมีอยู่หลายอย่างเช่น ช่างตีเหล็ก ได้แก่ นายถา อารินทร์ และนายหมื่น ธนูสนธุ์ หมอยาสมุนไพร ได้แก่ นายใจ ธนูสนธุ์ นายคำ พรมสวะนา นายยืน หน่อพงษ์ หมอตำแยได้แก่ พ่ออุ้ยแก้ว พรมสวะนา พ่ออุ้ยคำ ภิชัย หมอสู่ขวัญ ได้แก่ นายจันทร์ แสงพงษ์ นายคำ เสนนันตา นายยืน หน่อพงษ์ และนายสลัด เทพพงษ์
สถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยว
วัดป่าอ้อย เป็นวัดที่สร้างมาหลายชั่วอายุคน มีศิลปะหัตกรรมปฎิมากรรมที่สำคัญอยู่ชิ้นหนึ่งคือ รูปปั้นช้างเผือกนอนคุกเข่าใช้เป็นที่อ่านธรรมหรือเทศนาของพระภิกษุในเทศกาลเกี่ยวกับ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่างๆ ซึ่งรูปปั้นช้างเผือกนี้ได้สร้างไว้ในพระอุโบสถหลังเก่า ต่อมาทำการรื้อพระอุโบสถหลังเก่าและได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ครอบหลังเก่าและอนุรักษ์รูปปั้นช้างเผือกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา