ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 2' 41.591"
15.0448864
ลองจิจูด (แวง) : E 101° 14' 3.2168"
101.2342269
เลขที่ : 109124
จำปีสิรินธร
เสนอโดย ลพบุรี วันที่ 19 สิงหาคม 2554
อนุมัติโดย ลพบุรี วันที่ 22 สิงหาคม 2554
จังหวัด : ลพบุรี
1 704
รายละเอียด

“จำปีสิรินธร” จัดเป็นจำปีที่มีการค้นพบชนิดใหม่ของโลกที่มีขึ้นอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น มีลักษณะแตกต่างไปจากจำปีและจำปาทั่วไปที่เรารู้จักกัน กล่าวคือ เป็นจำปีที่ขึ้นอยู่ในป่าพรุน้ำจืดที่บ้านซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ซึ่งป่าพุน้ำจืด หมายถึง บริเวณที่มีน้ำจืดพรุผุดขึ้นมาจากใต้ดินลักษณะเดียวกับน้ำพรุ ป่าพรุจึงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีน้ำพุไหลผ่านตลอดเวลา ทำให้จำปีสิรินธรมีลักษณะทางธรรมชาติต่างจากจำปีทุกชนิดในโลก ที่ตามปกติจะขึ้นอยู่บนพื้นที่ดอนหรือบนภูเขา หรือตามพื้นที่ดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ออกดอกบานระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคม ผลแก่ระหว่างเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน จำปีสิรินธรเป็นพืชเฉพาะถิ่นของไทย (Endemic to Thailans) คือมีขึ้นอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และมีขึ้นอยู่เฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำหรือในป่าพรุ น้ำจืดที่มีน้ำพุไหล่ผ่านตลอดเวลา

ชื่อพื้นเมือง จำปีสิรินธร

ชื่อวิทยาศาสตร์ Magnolia Sirindhorniae Noot.& Chalermglin

ชื่อวงศ์ MAGNOLIACEAE

ชื่ออื่น จำปา จำปีสัก (ลพบุรี)

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ สูง 20– 30เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นที่ ระดับอก 50– 200เซนติเมตร เปลือกโคนต้นสีน้ำตาลหนา 0.5– 1 เซนติเมตร

มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวเปลือกแตกเป็นร่องลึกตามยาว ลำต้นเปลาตรง กิ่งที่อยู่ในระดับสูง

มีเปลือกสีขาว กิ่งอ่อนมีสีเขียวอมน้ำตาล มีช่องอากาศเป็นจุดหรือขีดนูนกระจาย ทรงพุ่มกลมโปร่ง เนื้อไม่และกิ่งเหนียว

ใบ รูปรีกว้าง 7– 10 เซนติเมตร ยาว 14– 20 เซนติเมตร โคนใบมนกลมหรือ รูปลิ่ม ปลายมนทู่ถึงแหลม ผิวใบด้านบนมีขนเล็กน้อย สีเขียวอมเหลือง มีเส้นกลาง ในนูนเล็กน้อย และมีเส้นแขนงในเป็นร่อง ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่าและมีขน มีเส้น กลางใบและเส้นแขนงใบนูนเด่น เนื้อใบหนา แข็งกรอบ ขอบใบเรียบ เส้นแขนงใบมี 11– 12 คู่ ก้านใบยาว 2.5– 4.5 เซนติเมตร รอบแผลเป็นของหูใบแนบโคน ก้านใบยาวสองในสาม ของความยางของก้านใบ

ดอก ออกเดี่ยวที่ซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกตูมรูปกระสวย มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1– 1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5– 3.5 เซนติเมตร กาบหุ้มดอกมี 1 แผ่น สีเขียวอ่อนและมีขนอ่อน ๆ คลุมอยู่ กาบฉีกออกและหลุดไปเมื่อกลีบดอกเริ่มแย้ม ก้านดอกยาว 1.8 เซนติเมตร ดอกบ้านตั้งขึ้นสีขาวนวล กลีบดอกชั้นนอกรูปหอกแกมขอบขนานกว้าง 1.2– 1.5 เซนติเมตร ยาว 1.5– 5 เซนติเมตร ปลายกลีบมนกลม เมื่อเริ่มแย้ม โคนกลีบดอกด้านนอกมีสีเขียวอ่อน กลีบดอกชั้นในมีขนาดแคบและสั้นกว่าเล็กน้อย เริ่มแย้มและส่งกลิ่นหอมตั้งแต่พลบค่ำ ดอกบานอยู่ได้ 2 วัน เมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็น สีเหลืองเล็กน้อย

ผล ผลเป็นช่อยาว 4– 6 เซนติเมตร ก้านช่อผลยาว 4 เซนติเมตร มีผลย่อย 15– 25 ผล แต่ละผลเรียงติดอยู่บนแกนกลางผลและไม่มีก้านผลย่อย ผลรูปกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1– 1.5 เซนติเมตร ผิวของผลมีช่องอากาศเป็นจุด ๆ สีขาว ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ผลย่อยแตกตามแนวยาว แต่ละผลมี 1– 6 เมล็ด เมล็ดสีแดงเข้มรูปกลมรี ยาว 4– 6 มิลลิเมตร

ประวัติการค้นพบ

“จำปีสิรินธร”ค้นพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ในฐานะผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพืชในวงศ์ไม้จำปาซึ่งเป็นโครงการวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2539 โดยได้ทำการสำรวจพรรณไม้พื้นเมืองทุกชนิดในวงศ์จำปาที่มีอยู่ในประเทศไทย ได้ไปสำรวจพื้นที่บ้านซับจำปา ตำบลซับจำปาอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 16พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นป่าพรุน้ำจืดมีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ พบต้นจำปีหรือจำปา (ในขณะนั้นไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นจำปีหรือจำปา เพราะยังไม่พบดอก แต่ชาวบ้านท้องถิ่นนั้น เรียกว่า (จำปา) มีต้นที่มีขนาดใหญ่สูง 15– 25เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1เมตร ประมาณ 4– 5ต้น ส่วนลำต้นที่มีขนาดเล็กกว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40– 100 เซนติเมตร พบอยู่ประมาณ 20 ต้น ในการสำรวจครั้งนี้พบซากของผลแก่ที่ร่วงอยู่โคนต้น ส่วนใหญ่ผุพังเกือบทั้งหมดแล้ว จึงไม่สามารถระบุได้ว่ามีจำนวนผลย่อยกี่ผล หรือมีจำนวนเมล็ดต่อผลจำนวนเท่าใด แต่จากการสำรวจทางนิเวศวิทยา สามารถระบุได้ว่า ต้นไม้ชนิดนี้มีความแตกต่างจากจำปีหรือจำปาชนิดอื่น ๆ เนื่องจากว่าสามารถเจริญเติบโตอยู่ได้ในสภาพของป่าพรุน้ำจืด ซึ่งโดยปกติแล้วจำปีหรือจำปาทุกชนิดทั่วโลกจะขึ้นอยู่บนพื้นที่ดอน หรือบนภูเขาหรือตามพื้นดินที่มีการระบายน้ำดี

ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 ได้เข้าไปสำรวจซ้ำในพื้นที่เดิม เก็บดอกจากบนต้นมาบันทึกภาพ และบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ ของดอก พบว่าก่อนที่ดอกเริ่มแย้มจะมีสีเขียวอ่อนที่โคนกลีบดอกด้านนอก เมื่อเริ่มแย้มจะมีสีขาวใส มีกลีบดอก 12– 15 กลีบ ปลายกลีบมนกลมจากการสำรวจในครั้งนี้ จึงสรุปได้ว่า ต้นไม้ชนิดนี้เป็นจำปี เนื่องจากในข้อกำหนดเดิม ที่ระบุว่า จำปีมีกลีบดอกแรกแย้มเป็นสีขาว จำปามีกลีบดอกแระแย้มเป็นสีเหลือง เหลืองส้ม ที่เรียก สีจำปา หรือมีสีอื่นนอกจากสีขาว และเมื่อสอบถามจากผู้คนในท้องถิ่นได้ความว่า ที่เรียกกันอยู่ว่าจำปา ก็เรียกตามสีของกลีบดอกที่ร่วงอยู่โคนต้น มีสีเหลืองจำปา จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านซับจำปา ซึ่งหมายถึงพื้นที่น้ำแฉะมีต้นจำปาขึ้นอยู่ แต่ยังไม่มีใครปีนต้นขึ้นไปเก็บดอกสด ๆ ลงมาดูเลยว่ามีสีอะไรกันแน่

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2542 ได้เดินทางเข้าไปสำรวจซ้ำในพื้นที่เดิม เก็บผลอ่อนและผลแก่จากบนต้นลงมาบันทึกภาพ ตรวจสอบลักษณะของผล มีผลย่อยจำนวน 15– 25 ผล และมีเมล็ด 1– 6เมล็ดต่อผลย่อย จากการสำรวจในครั้งนี้ ได้นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับพรรณไม้วงศ์จำปาที่มีอยู่ในประเทศไทยและในประเทศข้างเคียง สามารถระบุได้ว่า เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก (new species) เมื่อมีการส่งตัวอย่างไปตรวจสอบรายละเอียดซ้ำที่หอพรรณไม้ไลเดน ประเทสเนเธอแลนด์ ทางศาสตราจารย์ฮัน พี นูติบูม ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์จำปา ก็ยืนยันว่าเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก จึงร่วมกันเขียนรายงานการค้นพบ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ชื่อพระนามาภิโธย เป็นชื่อจำปีชนิดใหม่ว่า Magnolia Sirindhorniae Noot.& Chalermglin โดยมีชื่อภาษาไทยว่า
จำปีสิรินธร โดยพระองค์ท่านได้เสด็จไปทรงปลูกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย และต่างประเทศ อาทิ สวนพฤฏษศาสตร์ เมืองกวางโจว ประเทศสาธารณรัฐ ประเทศจีน และที่เมืองคาราคัส ประเทศสาธารณรัฐโบลิวาร์ แห่งเวเนซุเอลา

ชื่อ “จำปีสิรินธร” ได้รับการลงพิมพ์ในวารสารการจำแนกพรรณไม้ BLUMEA เมื่อเดือนสิงหาคม 2543 เป็นจำปีชนิดใหม่ของโลก และด้วยความที่เป็นจำปีที่มีลักษณะเด่นคือมีถิ่นกำเนิดอยู่เฉพาะในป่าพุน้ำจืดของประเทศไทยแห่งเดียวในโลกแล้วมีการขยายพันธ์และปลูกไปทั่วผืนแผ่นดินไทยจึงนับได้ว่า "“ปีสิรินธร” เป็นจำปีของแผ่นดิน

หมวดหมู่
อื่นๆ
สถานที่ตั้ง
ป่าจำปีสิรินธร
หมู่ที่/หมู่บ้าน 7 บ้านซับจำปา
ตำบล ซับจำปา อำเภอ ท่าหลวง จังหวัด ลพบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/buddhism_club/file/sirintorn.pdf
บุคคลอ้างอิง นางบุญเรือน เผ่าเพ็ง
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี อีเมล์ lopburiculture@gmail.com
ถนน พระปิยะ
ตำบล ป่าตาล อำเภอ เมืองลพบุรี จังหวัด ลพบุรี รหัสไปรษณีย์ 15000
โทรศัพท์ 0 3641 4258 โทรสาร 0 3641 4258
เว็บไซต์ http://province.m-culture.go.th
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่