พระราชวรธรรมโกศล (แฉล้ม เขมปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดชัยมงคล (พระอารามหลวง) และรองเจ้าคณะจังหวัดสงขลา
ชีวิตและการศึกษา
พระราชวรธรรมโกศล (แฉล้ม เขมปญฺโญ) เดิมชื่อ แฉล้ม ชูโต เป็นบุตรของนายเพชร นางสั้น ชูโต เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน เกิดวันจันทร์ ขึ้น 13 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2472 ณ บ้านเลขที่ 149 หมู่ที่ 3 ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ปัจจุบันอายุ 76 ปี ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนวัดธรรมโฆษณ์ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2486 แล้วจึงออกมาช่วยเหลือครอบครัวทำนาและค้าขาย พื้นเพเดิมของท่านเป็นคนบ้านสทิงหม้อ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเจริญมาตั้งแต่โบราณ ห่างจากตัวเมืองสงขลาประมาณ 8 กิโลเมตร ตั้งอยู่ริ่มทะเลสาบสงขลาด้านทิศตะวันตก มีคลองสทิงหม้อไหลผ่านชุมชนและไหลลงทะเลสาบสงลา
เมื่ออายุได้ 20 ปี จึงได้อุปสมบทตามประเพณีของชายไทยทั่วไปที่เป็นชาวพุทธ เมื่อวันเสาร์ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีขาล ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 ณ พัทธสีมาวัดธรรมโฆษณ์ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยมีพระครูธรรมโฆษิต (คง โกกนุตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิจิตรธรรมรัตน์ วัดธรรมโฆษณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูสุวิมล ศีลาจารย์ (พุ่ม สุวิมิตฺโม) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา แฉล้ม เขมปญฺโญ และได้จำพรรษาแรกที่วัดบ่อปาบ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เนื่องจากบริเวณชุมชนที่เป็นภูมิลำเนาเดิมนั้นเป็นชุมชนโบราณของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น มีท่าเรือขนาดใหญ่และเป็นที่หยุดพักระหว่างทางของผู้ใช้เส้นทางการเดินเรือในอดีต จึงมีวัดที่อยู่ใกล้กันมาก 3 วัด ได้แก่ วัดธรรมโฆษณ์ วัดบ่อปาบ และวัดโลการาม ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจาก พระครูธรรมโฆษิต (คง โกกนุตฺโต) ซึ่งเป็นพระเกจิชื่อดังของภาคใต้มีความรู้แตกฉานในพระธรรม ปฏิบัติตามหลักพระวินัยอย่างเคร่งครัดมีความรู้แก่กล้าทั้งทางด้านคาถาอาคมและโหราศาสตร์ไปจำพรรษาที่วัดบ่อปาบ ขณะนั้นมี พระครูสุวิมลศีลาจารย์ (พุ่ม สุวิมุตฺโต) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งพระครูสุวิมลศีลาจารย์ เมื่อครั้งบรรพาและอุปสมบทนั้นมี พระมหาลอย จนฺทสโร วัดแหลมจาก อำเภอสิงหนคร จังหวัดสขลา เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นที่ร่ำลือโดยทั่วไปว่า พระมหาลอย จนฺทสโร เป็นผู้มีฝีมือทางช่าง เป็นกวีพื้นบ้าน และมีความแก่กล้าทางด้านคาถาอาคม เมื่อร่ำเรียนกบพระอุปัชฌาย์จนแตกฉานทั้งทางด้านพระธรรมวินัยและศิลปวิทยาแล้ว ต่อมาจึงย้ายไปอยู่กับพระครูธรรมโฆษิต ที่วัดธรรมโฆษณ์ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมและฝึกเทศน์มหาชาติ เมื่อวัดบ่อปาบว่างเจ้าอาวาสพระครูธรรมโฆษิต จึงได้มอบหมายให้พระครูสุวิมลศีลาจารย์ไปเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พงศ. 2490
ในช่วงแรกของการเข้าพรรษาแรก พระแฉล้ม เขมปญฺโญ ก็เรียกการไหว้พระสวดมนต์ เรียนปริยัติธรรมและปฏิบัติตนตามหลักพระวินัยอย่างเคร่งครัด โดยมี พระครูธรรมโฆษิต และพระครูสุวิมลศิลาจารย์ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และอบรมสั่งสอนอย่างใกล้ชิด เมื่อออกพรรษาอยู่รับกฐินเสร็จก็สอบนักธรรมตรีและปรึกษาบิดามารดาที่จะลาสิกขาบทช่วยเหลือครอบครัวประกอบอาชีพ ซึ่งการค้าขายขอบครอบครัวก็ได้กำไรดี มีเรือขนส่งสินค้าค่อนข้างใหญ่สามารถบรรทุกได้มากถึง 5 ตัน เป็นเรือแบบใช้ใบ 2 เสา ต้องใช้ลูกเรือขนส่งสินค้า 3-5 คน เนื่องจากความคิดแต่เดิมที่จะบวชเพียงหนึ่งพรรษาเท่านั้น เมื่อบิดามารดาจัดเตรียมเสื้อผ้าของฆราวาสพร้อมแล้ว ก็ได้กราบเรียนพระอุปัชฌาย์ทราบ พระอุปัชฌาย์รับฟังแต่ยังนิ่งเฉยอยู่ จากนั้นก็ได้เข้าไปกราบท่านเจ้าอาวาสวัดบ่อปาบเพื่อให้ท่านได้กำหนดวันลาสิกขาบท เจ้าอาวาสรับฟังด้วยความสงบนั่งนิ่งอยู่สักครู่จึงได้กล่าวว่า “พิจารณาแล้วยังไม่มีวันที่เป็นฤกษ์ดี อันที่จะกำหนดให้เป็นวันลาสิกขาบท เกี่ยวกับเรื่องนี้ค่อยปรึกษากันอีกครั้ง” เวลาผ่านมาหลายวันจะเข้าไปปรึกษาเห็นพระอาจารย์ทั้งสองนิ่งเฉยอยู่ก็เกรงใจ แต่ยังคอยแนะนำ พร่ำสอนวิชาที่มีอยู่ให้อย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง รวมทั้งสอนและให้ท่านฝึกหัดแสดงธรรม ฝึกสอนอบรมให้เทศน์มหาชาติเพิ่มเติมอีกด้วย ท่านเองก็มีวิริยะมานะในการศึกษาเล่าเรียนและฝึกปฏิบัติด้วยความตั้งใจและไม่ได้พูดถึงการลาสิกขาบทอีกเลย เสื้อผ้าที่เตรียมไว้สำหรับการลาสิกขาบทพี่สาวซึ่งเป็นคนโตก็นำไปเก็บไว้เป็นอย่างดี ซึ่งพี่สาวของท่านได้เล่าให้ฟังว่า “อาจารย์ทั้งสองของท่านไม่อยากที่จะให้ลาสิกขาบท เพราะท่านเป็นคนหลักแหลม สามารถเรียนรู้เรื่องที่สอนได้สำเร็จ นำไปปฏิบัติได้มีขันติและวิริยะ ยึดมั่นในหลักธรรมของศาสนาอย่างเคร่งครัดและเสื้อผ้าชุดนั้นพี่สาวยังเก็บไว้ มีเสื้อและกางเกงแพรขาก๊วย เป็นกางเกงที่ชายหนุ่มในยุคนั้นนิยมสวมใส่” ครั้นถึงพรรษาที่สองเมื่อเจ้าอาวาสพิจารณาแล้วเห็นว่า พระแฉล้ม เขมปญฺโญ มีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาเล่าเรียนอยู่ใต้ร่มกาสาวพัตร เป็นที่แน่แล้วจึงมีความประสงค์ที่จะส่งมาศึกษาต่อที่เมืองบ่อยาง เพราะไม่ต้องการให้ไปอยู่ไกล จากนั้นจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดชัยมงคล เพื่อที่จะได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและบาลี กับพระธรรมโมลี สำนักวัดเลียบ ครั้นถึงปี พ.ศ. 2496 ก็สอบได้นักธรรมเอก พร้อมทั้งศึกษาทำความเข้าใจและท่องจำพระปาฏิโมกข์ไปด้วย และปี พ.ศ
2508 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค นอกจากนั้นแล้วท่านยังเดินทางไปตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เช่นเดินทางไปศึกษาพุทธสถานที่ประเทศอินเดียและประเทศเนปาล เมื่อปี พ.ศ. 2529 เดินทางไปศึกษาพุทธสถานที่ประเทศศรีลังกา เมื่อปี พ.ศ. 2532 และฝึกปฏิบัติคติวิปัสสนากรรมฐานกับพระอาจารย์ ดร.ภัททันตะ อาสภะ มหาเถระ จังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2535
สมณศักดิ์
พ.ศ. 2529 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระอารามหลวงชั้นเอกที่ “พระครูศรีมงคลเจติยาทร”
พ.ศ. 2530 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาส พระอารามหลวงชั้นเอกในราชทินนามเดิม (พัดเปลวเพลิง)
พ.ศ. 2532 เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2536 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระวิเชียรโมลี”
พ.ศ. 2548 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชวรธรรมโกศล”