ประวัติ
มีผู้เล่าว่าผู้ก่อตั้งชุมชน คือ นายศิริ เกตุบางลาย นายอุ่ม ช่องท้วม มาจาก ต.บางลาย
อ.บึงนาราง จังหวัดพิจิตร เพื่อมาจับจองที่ดินทำกิน เมื่อมาถึงที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นที่พักของคนเดินทางไปมาระหว่างบางลาย
บึงนาราง ในสมัยนั้นเรียกชื่อชุมชนนี้ว่า ทุ่งขี้เมา เนื่องจากคนเดินทางหยุดพัก ได้ทำอาหารการกิน ดื่มเหล้าเมา จึงเรียกว่า
ทุ่งขี้เมา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ หลวงพ่อเปรื่อง วัดบางคลาน อ.โพทะเล ได้มาทำการหล่อรูปเหมือนหลวงปู่เงิน ณ ทุ่งขี้เมา
และได้เปลี่ยนชื่อจาก ทุ่งขี้เมา เป็น ทุ่งศาลาอนุสรณ์ มีผู้เล่าว่า หลวงปู่เงินได้ขี่ช้างนบ ช้างแนบ มาจากบ้านท้ายน้ำ เพื่อมาปฏิบัติธรรม ได้สร้างศาลาพักไว้ บริเวณนั้นมีสระน้ำซึ่งมีตาน้ำอยู่จึงทำให้น้ำไม่แห้ง นายศิริ และนายอุ่ม จึงตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ โดยตั้งชุมชนอยู่ด้านหลังของศาลาที่หลวงปู่เงินสร้างไว้ ต่อมามีผู้มาอยู่เพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ และเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๓๘ ได้แยกหมู่บ้านจากหมู่ที่ ๖ ต.บึงนาราง มาเป็นหมู่ที่ ๗ ต.บึงนาราง ชาวบ้านจึงเปลี่ยนหมู่บ้าน เป็น บ้านทุ่งศาลาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ปัจจุบันยังคงมีอาชีพทำนา และมีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และอาชีพประดิษฐ์กรอบพระ เพิ่มขึ้นมา ชาติพันธุ์ในชุมชน ส่วนใหญ่เป็น ไทยกลาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านสักการะ ได้แก่
หลวงปู่เงิน ที่วิหารหลวงปู่เงินวัดทุ่งศาลา ชาวบ้านเชื่อว่าสมัยก่อนผู้ที่จะเดินทางไปโพทะเล เพื่อรักษาตัว ต้องมาพักที่ศาลาเก่าที่หลวงปู่เงินสร้างไว้ เมื่อดื่มน้ำในสระแล้วจะหายจากอาการเจ็บป่วยได้ จนชาวบ้านเรียกว่า บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีสำคัญของหมู่บ้าน ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ รดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุ ซึ่งประเพณีสงกรานต์ในอดีตที่บริเวณแห่งนี้จะมีการกักด่าน เพื่อให้ผู้คนสัญจรไปมาได้ร่วมเล่นสงกรานต์ ปัจจุบันไม่มีการกักด่านเพื่อเล่นสงกรานต์แล้ว ตระกูลที่สำคัญ ได้แก่ ตระกูลเกตุบางลาย ตระกูลช่องท้วม นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจในชุมชน ได้แก่ การประดิษฐ์กรอบพระ จาก นายสุชาติ
ขาธรรม เลขที่ ๔๗ หมู่ที่ ๗ ต.บึงนาราง อ.บึงนาราง
ที่ตั้ง
บ้านทุ่งศาลา หมู่ที่ ๗ ตำบลบึงนาราง อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร มีอาณาเขต ทิศเหนือ
ติดต่อกับ หมู่ที่ ๓ , หมู่ที่ ๖ ต.บึงนาราง ทิศใต้ติดต่อกับ หมู่ที่ ๘ , หมู่ที่ ๑๐ ต.บางลาย และหมู่ที่ ๔ ต.ท้ายน้ำ
ทิศตะวันออกติดต่อกับ หมู่ที่ ๘ ต.บางลาย ทิศตะวันตกติดต่อหมู่ที่ ๕, หมู่ที่ ๖ ต.บึงนาราง
เส้นทางเข้าสู่ชุมชน
ถนนสายบึงนาราง – บางลาย และมีถนนแยกเข้าหมู่บ้าน ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ หรือประมาณ ๑๖ ปีมาแล้ว แยกออกจาก หมู่ที่ ๖ ต.บึงนาราง
(ผู้ให้ข้อมูล: ๑. นายสุชาติ ขาธรรม เลขที่ ๔๗ หมู่ที่ ๗ ต.บึงนาราง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร
๒. นายนิติธร เกตุบางลาย เลขที่ ๕๔ หมู่ที่ ๗ ต.บึงนาราง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ได้รับทราบเรื่องราวจากผู้สูงอายุในชุมชน และจากนายพเยาว์ สังครุฑ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๖ ต.บึงนาราง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร)