ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 10' 9.471"
16.1692975
Longitude : E 100° 34' 30.2916"
100.5750810
No. : 131132
ประเพณีกวนข้าวทิพย์
Proposed by. ตุ๋งติ๋ง Date 18 April 2012
Approved by. พิจิตร Date 18 April 2012
Province : Phichit
1 410
Description

ตำนาน

โบราณกล่าวว่า“ข้าวทิพย์” หรือ “ข้าวมธุปายาส” นั้น เป็นอาหารวิเศษใช้สำหรับถวายเทวดา ทั้งยังมีความเชื่อที่ว่า หากผู้ใดได้บริโภคข้าวทิพย์แล้ว จะประสบโชคลาภต่างๆ นานา ปราศจากโรคาพยาธิ ภัยพิบัติ ประสบสิ่งที่เป็นมงคล และมีกำลังวังชาแข็งแรงกว่าใครๆ
การกวนข้าวทิพย์นั้นเป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ ที่สอดแทรกเข้ามาปะปนในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา โดยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ บูชาพระรัตนตรัย และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย แต่เดิมกระทำกันในเดือน ๑๐
แต่ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่นิยมจัดกันในเดือน ๖ เครื่องกวนข้าวทิพย์นั้นทำจากสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์ใช้รับประทานหลากหลายชนิด จนเรียกได้ว่าทำมาจากอาหาร ๑๐๘ อย่าง เช่น น้ำนมข้าว ข้าวสาลี ข้าวตอก ข้าวเม่าสาคู เผือก มัน นม เนย น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ธัญพืชคั่วสุกชนิดต่างๆ เช่น ถั่ว งา ลูกเดือย เมล็ดแตง เมล็ดบัว ผลไม้สด ผลไม้แห้ง เช่น มะพร้าว มะม่วง กล้วย ทุเรียน ละมุด ลำไย ส้ม ขนุน เป็นต้น นำมาบดผสมในน้ำกะทิกรองเอาแต่น้ำ แล้วนำมากวนบนไฟอ่อนๆ เรียกการกวนนี้ว่า “ประเพณีกวนข้าวทิพย์"

ความสำคัญ

พิธีกวนข้าวทิพย์ เป็นประเพณีที่ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหตุการณ์ที่นางสุชาดาได้กวนข้าวทิพย์ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ แล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ ๑ วัน โดยถือว่ามีผลานิสงฆ์มาก ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงพร้อมใจกันกวนข้าวทิพย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เทิดทูนพระเกียรติคุณด้วยความกตัญญูกตเวทิตาธรรม นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความพร้อมเพรีงของคนในชุมชน และถือเป็นการรักษาวัฒนธรรมอันดีงาม

ความเชื่อ

พุทธศาสนิกชนชาวตำบลทับคล้อ ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยวัดมงคล ทับคล้อ พระอารามหลวง และชุมชนพร้อมใจกันกวนข้าวทิพย์ โดยมีความเชื่อว่าเมื่อทำครบถ้วนตามพิธีแล้ว จะเป็นสิริมงคลแก่ผู้ทำและผู้บริโภค ผู้ใดได้บริโภคข้าวทิพย์แล้ว จะประสบโชคลาภต่างๆ นานา ปราศจากโรคาพยาธิ ภัยพิบัติ ประสบสิ่งที่เป็นมงคล และมีกำลังวังชาแข็งแรงกว่าใครๆ

กลุ่มคนที่เชื่อ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยกลาง จีน และอีสาน ประชาชนชาวตำบลทับคล้อ ชุมชน 9 ชุมชน ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ในเขตตำบลทับคล้อ จำนวนกว่า 2,000 คน

โอกาส ฤดูกาล เวลา และสถานที่

ก่อนวันวิสาขบูชา ๑ วัน คือ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ณ วัดมงคลทับคล้อ พระอารามหลวง

รูปแบบและกรบวนการของพิธีกรรม

พิธีกระทำ ๒ วัน เหมือนในสมัยโบราณ โดยจะทำก่อนวันวิสาขบูชา ๑ วัน คือ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ตอนเช้า จะมีการเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งพิธีพราหมณ์และพุทธ พิธีการกวนข้าวทิพย์จะนำหญิงสาวพรหมจารีย์ ซึ่งเป็นเด็กหญิงที่ยังเป็นรอบเดือน จำนวน ๔ คน นุ่งขาวห่มขาว (นัยว่าเป็นตัวแทนของนางสุชาดา ผู้นำข้าวมธุปายาสมาถวายพระพุทธเจ้า) เริ่มต้นกวนเป็นพิธี หลังจากนั้นก็ให้กลุ่มแม่บ้าน ชุมชนและเยาวชนกวนต่อ ใช้เวลากวนประมาณ ๓๐-๔๐ นาที กระทั่งน้ำเครื่องทิพย์จับตัวเป็นเนื้อเดียวกันโดยไม่ติดกระทะก็ถือว่าสุกได้ที่ เทใส่ภาชนะโรยด้วยถั่ว งา ทิ้งไว้ให้คลายความร้อนแล้วบรรจุใส่ถุงพลาสติก นำเข้าพิธีพุทธาภิเษกในตอนเย็น เพื่อเพิ่มความขลังและความเป็นศิริมงคลแก่ผู้บริโภค ตอนเย็น มีการสวดพระพุทธมนต์ (สวดมนต์เย็น) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เจ็ดตำนานและธรรมจักรกัปปวัตนสูตร พอรุ่งเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งตรงวันวิสาขบูชา จัดถวายเป็นพุทธบูชาและถวายพระสงฆ์ และแจกจ่ายแก่ผู้ร่วมพิธีและบุคคลทั่วไปบูชาไปบริโภคพื่อความเป็นศิริมงคล

เครื่องปรุงในการกวนข้าวทิพย์

เครื่องปรุงที่กวน ได้แก่ น้ำนมโคสด (ปัจจุบันใช้นมข้นหวานแทน) น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ชะเอมเทศ น้ำตาลกรวด น้ำตาลหม้อ ข้าวตอก ข้าวเม่า ธัญพืชต่าง ๆ ที่คั่วสุก ถั่ว งา ลูกเดือย เมล็ดแตง เผือกมัน เมล็ดบัว มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน ผลไม้สด ผลไม้แห้ง เช่น มะม่วง กล้วย ทุเรียน ละมุด ลำไย ส้ม ขนุน เป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมเท่าที่จะหาได้หรือปรับปรุงให้มีรสชาติ หอมหวาน อร่อย ตามความต้องการของผู้กวนในแต่ละท้องถิ่น

การจัดเตรียมการในพิธีกวนข้าวทิพย์ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องสังเวย

ต้องปลูกโรงพิธีขึ้น ๑ หลัง ให้กว้างใหญ่พอสมควร เพื่อตั้งโต๊ะบูชาพระพุทธรูป อาสน์สงฆ์ โต๊ะบูชาเทวรูป และที่ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธี คือ พราหมณ์ โหร (ผู้ที่มีความรู้ในพิธีกรรมอย่างดี) เทพยดา นางฟ้า สาวพรหมจารี และทายก ทายิกา ฯลฯ นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และก่อเตาตั้งกะทะกวนภายในโรงพิธี จัดหาพายสำหรับกวนกะทะละ ๓ เล่ม ตั้งราชวัฏ ฉัตร ธง ผูกต้นกล้วย อ้อย ทั้ง ๔ มุม หรือครบ ๘ ทิศยิ่งดี แล้วยกศาลเพียงตาขึ้นไว้ในทิศที่เป็นศรีของวัน คือ ทิศที่เทวดาสถิตในวันกวน ตั้งเครื่องสังเวย ประกอบด้วย หัวหมู บายศรี เป็ด ไก่ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว มะพร้าวอ่อน

จัดที่บูชา ๒ ที่ คือ

- โต๊ะบูชาพระพุทธรูปหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หรือทิศเหนือ ถ้าสถานที่ไม่อำนวย มีไม้มหาโพธิ์ใส่กระถางตั้งไว้ด้านหลังพระพุทธรูป (ถ้ามี) ส่วนประกอบอื่นเหมือนการจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาทั่วไป
- โต๊ะบูชาเทวรูป มีพระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ เป็นต้น สุดแต่จะหาได้ พระฤาษี ๕ ตน ถ้าหายากก็ต้องให้ได้อย่างน้อย ๑ ตน สมมติเป็นฤาษีกไลยโกฏ มีเครื่องบูชา เช่นเดียวกัน
จัดตั้งอาสนะสงฆ์ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปให้สูงกว่าพื้นที่สัปบุรุษทายกทายิกา และผู้เข้าร่วมพิธีนั่ง

ประเพณีกวนข้าวทิพย์จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความศรัทธาความเชื่อที่ยังมีอยู่ ของประชาชนและผู้นำในชุมชนที่จะร่วมมือกันอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ เพราะต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนจำนวนมาก ในการเตรียมการ การจัดหาอุปกรณ์ในการกวน แรงงานในการกวน และการเตรียมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินที่ใช้ในการจัดซื้อจัดหาสิ่งของต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

ปราชญผู้รู้ เจ้าพิธี นายบัว วังศรีคูณ ด้านพิธีพราหมณ์ พระราชพุฒิเมธี เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร พระปิฎกคุณาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอทับคล้อ ด้านพิธีพุทธ และนางทองรวม เทียนยัง ปราชญ์ชาวบ้านผู้ชำนาญด้านการกวนข้าวทิพย์

Location
วัดมงคลทับคล้อ พระอารามหลวง
Road ชมฐีรเวช
Amphoe Tap Khlo Province Phichit
Details of access
พระราชพุฒิเมธี เจ้าอาวาสวัดมงคลทับคล้อ พระอารามหลวง เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร
Reference นางยุพาพิน ตาลเลี้ยง Email misspayu@hotmail.com
Organization สนง.วัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร
Road บุษบา
Province Phichit ZIP code 66000
Tel. 0 5661 2675-6 Fax. 0 5661 2676
Website http://province.m-culture.go.th/phichit/
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
ตุ๋งติ๋ง 18 April 2012 at 21:36
เพิ่มเติมข้อมูล เรียบร้อยแล้วค่ะ



พิจิตร 18 April 2012 at 20:13
พี่ ติ่ง อันนี้ เพิ่ม กลุ่มชาติพันธุ์ และ ประชาชน ในเขต หมู่บ้านหรือตำบล อำเภอ ที่ยึดถือปฏิบัติ ประเพณี นิด นึ่งนะคะ ...จะสมบูรณืมาก
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่