กระบวนการสกัดน้ำมันกฤษณา
การสกัดน้ำมันกฤษณาจะใช้วิธีการเหมือนกับน้ำมันหอมระเหยโดยทั่วไป ได้แก่ การต้มกลั่นแบบใช้น้ำ (water distillation) แต่น้ำมันกฤษณาจัดเป็นสารจำพวกเรซิน (resin) ที่สร้างขึ้นในเนื้อไม้กฤษณา ซึ่งจะมีลักษณะข้นเหนียว การสกัดที่กระทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ให้ผลผลิตน้ำมันที่มีปริมาณค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการกลั่นน้ำมันหอมระเหยโดยทั่วไป จากกรณีศึกษาการสกัดน้ำมันกฤษณาของบริษัทหนึ่งโดยอิสระ (2545) พบว่า กระบวนการกลั่นน้ำมันกฤษณาโดยวิธีการต้มกลั่นนั้นมีประสิทธิภาพของกระบวนการกลั่นต่ำมาก คิดเป็นค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.124 ซึ่งทั้งนี้การคำนวณหาประสิทธิภาพดังกล่าว เป็นค่าอัตราส่วนร้อยละของปริมาณน้ำมันกฤษณาที่กลั่นออกมาได้ต่อปริมาณน้ำหนักวัตถุดิบที่ใส่เข้าไปในตอนแรก
กระบวนการสกัดน้ำมันกฤษณา
สำหรับเทคโนโลยีกระบวนการกลั่นน้ำมันกฤษณาโดยวิธีการต้มกลั่นด้วยน้ำในปัจจุบัน มีขั้นตอนที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป สามารถสรุปได้ดังนี้
1. การสับแยกชิ้นไม้กฤษณาที่เกิดสารกฤษณา
การรับซื้อไม้กฤษณาที่เกิดสารกฤษณาสะสมอยู่ในเนื้อไม้ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สามารถจะนำมากลั่นให้น้ำมันกฤษณาได้นั้น ผู้รับซื้ออาจจะซื้อมาเป็นท่อนไม้ แล้วนำมาสับคัดแยกเฉพาะส่วนที่เกิดสารกฤษณาเอง หรืออาจจะรับซื้อชิ้นไม้สับ ที่ได้ทำการคัดแยกเนื้อไม้สีขาวที่ไม่เกิดสารกฤษณาออกไปแล้วโดยผู้ขาย ซึ่งราคาชิ้นไม้กฤษณาดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับปริมาณการสะสมสารกฤษณาในเนื้อไม้ว่ามีมากน้อยเพียงไร และคุณภาพของเนื้อไม้ที่เกิดสารกฤษณาดังกล่าว ชิ้นไม้กฤษณาหลังจากสับคัดแยกส่วนที่ไม่เกิดสารกฤษณาแล้ว จะมีลักษณะเป็นชิ้นเล็ก ๆ บาง ๆ ขนาดกว้างประมาณ 2- 3 ซม. และยาว ประมาณ 4-5 ซม. เพื่อง่ายต่อการทำให้แห้ง และนำไปเข้าเครื่องบดต่อไป
2. การตากแดด
นำชิ้นไม้กฤษณาที่สับได้ มาผึ่ง หรือตากแดดประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้ความชื้นในเนื้อไม้ลดลง และง่ายต่อการบดโดยใช้เครื่องจักรบด
3. การบด
นำชิ้นไม้ที่ตากแดดจนได้ความชื้นภายในเนื้อไม้ที่ต้องการแล้ว มาบดโดยใช้เครื่องบดย่อยไม้ให้ได้ผงไม้ขนาดเล็กเพิ่มผิวสัมผัสของกับเนื้อไม้ให้มากที่สุด
4. การหมัก
ผงไม้กฤษณาที่บดแล้วจะนำมาแช่น้ำเปล่าให้ท่วม ทิ้งไว้ประมาณ 2-10 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมวิธีของผู้ประกอบการแต่ละราย โดยผู้ประกอบการบางรายเชื่อว่า การหมักผงไม้กฤษณาก่อนการกลั่นจะทำให้กลิ่นของน้ำมันที่สกัดได้แตกต่างกันตามเวลาที่ใช้ในการหมัก
5. การต้มกลั่น
หลังจากหมักผงไม้จนได้ตามเวลาที่ต้องการแล้ว จะนำมาต้มในหม้อต้มตามขนาดและปริมาณที่ต้องการ โดยทั่วไปจะใช้เนื้อไม้แห้งประมาณ 15-20 กิโลกรัมต่อ 1 หม้อต้มกลั่น สำหรับชุดต้มกลั่นน้ำมันกฤษณาจะมีความหลากหลายกันไป แต่หลักการทั่วไปคือเมื่อต้มเนื้อไม้กับน้ำเปล่าจนหม้อต้มได้รับความร้อนจนถึงจุดเดือดของน้ำและน้ำมันกฤษณาแล้ว น้ำและน้ำมันก็จะเปลี่ยนสถานะกลายเป็นไอ เมื่อไอของน้ำและน้ำมันผ่านมาทางท่อเย็น ไอน้ำก็จะเกิดการควบแน่นกลายเป็นของเหลวแยกชั้นระหว่าง น้ำกับน้ำมันกฤษณา โดยน้ำมันจะลอยตัวอยู่เหนือน้ำ
6. การแยกน้ำมันกับน้ำ
หลังจากทำการกลั่นเป็นระยะเวลาประมาณ 2-10 วัน (ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการกลั่นของแต่ละโรงงาน) ซึ่งส่วนใหญ่จะดูจากไม่มีน้ำมันแยกออกมาระหว่างทำการกลั่นอีกแล้ว ก็จะหยุดกลั่น และทำการแยกน้ำมันออกจากน้ำ