ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 13° 25' 28.4146"
13.4245596
Longitude : E 99° 57' 25.4077"
99.9570577
No. : 133237
ครูกลิ่น ครูกล้อย ครูกล้าย ครูกล้ำ ณ บางช้าง
Proposed by. สมุทรสงคราม Date 30 April 2012
Approved by. สมุทรสงคราม Date 4 July 2012
Province : Samut Songkhram
0 2256
Description

กลุ่มนักดนตรีอัมพวาสายสกุล ณ บางช้าง ถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในวงการดนตรีไทยยุครัตนโกสินทร์ สืบทอดวิชาปี่พาทย์มาหลายชั่วอายุคนและมีความสัมพันธ์กับครูบาอาจารย์ในประวัติศาสตร์ปี่พาทย์จำนวนมาก รวมทั้งทางเพลงที่เรียกขานกันว่า “ทางบางช้าง” ก็มีการเล่าขานกันว่าเกิดการถ่ายทอดของครูดนตรี อัมพวากลุ่มนี้ เช่น แขกมอญบางช้าง ใบ้คลั่งบางช้าง เพลงไล่ระนาดมู่ล่งทางบางช้าง มือฆ้องสาธุการทางบางช้าง เพลงเรื่องสร้อยสนทางบางช้าง เป็นต้น

ไม่อาจยืนยันว่า การใช้ชื่อตระกูล ณ บางช้าง ของครูดนตรีกลุ่มนี้ มีส่วนสัมพันธ์กกับราชินีกูลบางช้างแห่งราชวงศ์จักรีเพียงใด หากจะต้องไปลำดับโครงสร้างการสืบสายสกุล ณ บางช้าง ซึ่งเป็นพระญาติวงศ์ในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (คุณนาค) พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมีเถือกเถาเหล่ากอที่เก่าแก่ย้อนไปจนถึงราชวงศ์พระร่วงในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือสุโขทัย ราชินีกุลบางช้างเป็นกลุ่มเศรษฐีที่มีบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองในพื้นที่เมืองราชบุรีและแขวงบางช้างหรือจังหวัดสมุทรสงครามอย่างยิ่ง มีสายสกุลที่เกี่ยวพันกัน 3 สายสกุล คือ ณ บางช้าง, บุนนาค และชูโต ซึ่งการใช้นามสกุล ณ บางช้าง เป็นเรื่องของการแสดงอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองเป็นหลัก (สนใจกรุณาอ่านเพิ่มเติมใน เทพ สุนทรศารทูล. พงศาวดารราชินีกุลบางช้าง. กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์พรนารายณ์, 2540 และ บุษบก ณ บางช้าง. ราชินิกุล ณ บางช้าง. กรุงเทพฯ, บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์ นายแพทย์เอิบ ณ บางช้าง 29 กันยายน 2547)

อย่างไรก็ตาม เมื่อจะต้องนับว่านักดนตรีกลุ่มนี้เป็นหนึ่งในสายสกุล ณ บางช้าง ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมดนตรีไทย ก็ต้องเริ่มที่ต้นสายคือครูกลิ่น เป็นชาวสวนและเจ้าของวงปี่พาทย์ที่มีความรู้ดีมากคนหนึ่งในอัมพวา เป็นเพื่อนสนิทกับ ครูสิน บ้านคลองดาวดึงส์ (ซึ่งต่อมาคือครูสิน ศิลปะบรรเลง บิดาของนายศรหรือหลวงประดิษฐไพเราะ) ครูกลิ่นมีภรรยาชื่อนางชม มีลูก 4 คนคือ นางเกลี้ยง นางกลบ นายกล้อย นายเกลื้อ เป็นนักดนตรีฝีมือดีทุกคน

ครูกล้อย ณ บางช้าง นั้นเป็นคนปี่พาทย์ที่มีฝีมือดี เชี่ยวชาญปี่พาทย์รอบวงโดยเฉพาะการเป่าปี่ สมัยหนึ่งได้เข้ามาอยู่ในวังบูรพาภิรมย์ เป็นนักดนตรีรุ่นแรกๆ ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภานุรังสีสว่างวงศ์โปรดมากคนหนึ่ง ครั้งหนึ่งเคยเป่าปี่ประชันกับครูแปลก (ต่อมาเป็นพระยาประสานดุริยศัพท์ เจ้ากรมพิณพาทย์หลวงในสมัยรัชกาลที่ 6) แล้วทำให้ครูแปลกยอมรับนับถือฝีมือมาก ได้คบหาเป็นเพื่อนกันและไม่ขอเป่าประชันด้วยอีกเลย ผลงานเพลงที่ท่านประพันธ์ไว้มีหลายเพลง ที่รู้จักกันมาก เช่น สุดสงวน ต้นบรเทศสามชั้น

ครูกล้อยมีลูกชายเป็นนักดนตรีฝีมือดีอีกคนหนึ่งชื่อครูกล้าย ณ บางช้าง ต่อมาเป็นครูสอนดนตรีให้กับวงปี่พาทย์ต่างๆ ในเขตจังหวัดสมุทรสงครามและราชบุรี ศิษย์ครูกล้ายที่มีชื่อเสียง เช่น ครูรวม พรหมบุรี ครุสกล แก้วเพ็ญกาศ

นางกลบ บุตรีครูกลิ่น แต่งกับนายจั่นคนปี่พาทย์ มีบุตร 4 คน คนโตชื่อนายกล้ำ เกิดเมือ พ.ศ. 2415 เป็นคนปี่พาทย์ฝีมือดีมก น้องๆ อีก 3 คนคือ นางกลืน นางกริ่ม นายกลอน ก็มีความรู้ทางปี่พาทย์ ขับเสภา และเล่นลิเก ครูกล้ำเริ่มเรียนระนาดเอกจากมารดา แล้วไปอยู่กับสำนักปี่พาทย์ครูเนตร วัดปากง่าม ร่วมวงกับครูปานและครูลวด นิลวงศ์

เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เขียนเล่าเรื่องครูกล้ำเอาไว้ในหนังสือจดหมายเหตุดนตรี 5 รัชกาล (2549 :6-7) ว่าครูกล้ำเป็นนักดนตรีที่มีวิชาฝีมือดีรอบตัวมาตั้งแต่เด็ก เก่งทั้งทางร้องทางเครื่อง ทั้งเป่าปี่ ตีระนาดเอกฆ้องวง ฯลฯ มีความคุ้นเคยกับคณะละครและวงดนตรี ตลอดจนเจ้านายตามวังต่างๆ เป็นอย่างดี เมื่อมีการจัดประชันปี่พาทย์ที่วังบางขุนพรหม ใน พ.ศ. 2466 ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ก็โปรดให้ร่วมเป็นกรรมการตัดสินฝ่ายอาชีพด้วย เป็นเพื่อนรุ่นพี่ที่หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) คุ้นเคยชอบพอมาก เมื่อเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ มักแวะไปเยี่ยมเยือนหากันที่บ้านบาตรเป็นประจำ และปรากฏว่ามีลูกศิษย์ของครูกล้ำหลายคนได้มาเรียนเพิ่มเติมต่อที่บ้านบาตรด้วย

นิสัยที่ชอบเดินทางแสวงหาประสบการณ์ดนตรีไปในที่ต่างๆ อยู่เสมอของครูกล้ำ ทำให้มีลูกศิษย์มากและส่วนใหญ่กระจัดกระจายอยู่ไปทั่วในจังหวัดต่างๆ ส่วนสำนักดนตรีที่ท่านเคยไปร่วมงานและถ่ายทอดวิชาให้ เท่าที่พอสืบทราบได้ก็มีวงครูสุ่ม ดนตรีเจริญ คณะปี่พาทย์มอญที่อยู่ใกล้วัดเทพธิดาราม วงครูสกล แก้วเพ็ญกาศ ที่อำเภอบางใหญ่ นนทบุรี และวงของนายระย้าที่พระนครศรีอยุธยา วงนายบ๋วยใกล้วัดสะพานที่ปากคลองพระโขนง เป็นต้น ลูกศิษย์ทางระนาดที่ได้วิชาจากครูกล้ำคนหนึ่งที่น่าสนใจคือครูประยงค์ รามวงศ์ คนลพบุรี เริ่มเรียนระนาดจากครูกล้ำก่อนที่จะไปเรียนต่อกับหลวงประดิษฐไพเราะ ครูประยงค์เคยเป็นครูสอนดนตรีที่วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ยุคก่อตั้ง ได้บันทึกเสียงทางระนาดบางช้างที่เรียนจากครูกล้ำไว้กับ ดร.เทอรี มิลเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยเค้นท์ โอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เอาไว้เป็นจำนวนมาก ในสมัยที่ ดร.เทอรี มิลเลอร์ เข้ามาเก็บข้อมูลดนตรีในประเทศไทย

ครูกล้ำเสียชีวิตที่บ้านลูกศิษย์คนหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อายุประมาณได้ 80 ปี มีภาพถ่ายของครูกล้ำ ณ บางช้าง เก็บรักษาไว้อย่างดีที่บ้านครูสกล แก้วเพ็ญกาศ นนทบุรี เป็นภาพชายชราผมหงอกไว้หนวดใส่เสื้อราชปะแตน ถือเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่หายากชิ้นหนึ่งในวงการดนตรีไทย กับการศึกษาเรื่องราวของนักดนตรีไทยสายสกุลบางช้างที่มีบทบาทในการสืบสานดนตรีไทยในยุคทองที่ผ่านล่วงกาลเวลาไปแล้วนั้น

Location
Amphoe Amphawa Province Samut Songkhram
Details of access
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม
Reference นางสาวพรทิพย์ ไชยา Email smk_culture@hotmail.co.th
Organization สำนักงานวัฒนธรรมอำเภออัมพวา Email smk_culture@hotmail.co.th
Tambon แม่กลอง Amphoe Mueang Samut Songkhram Province Samut Songkhram ZIP code 75000
Tel. 034718-138 Fax. 034718-138
Website http://province.m-culture.go.th/samutsongkhram
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่