สลากภัต
ประเพณีสลากภัต เป็นประเพณีทำบุญที่ถือปฏิบัติกันอยู่ทุกภาคในประเทศไทย แล้วแต่จะเรียกชื่อกันไปตามภาค เช่นภาคเหนือจะเรียกพิธีนี้ว่า "ทานก๋วยสลาก"คำว่า "ก๋วย"แปลว่า "ตะกร้า"หรือ "ชะลอม"
คำว่า "สลากภัต" หมายถึงอาหารที่ชาวบ้านถวายพระตามสลาก นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ในคำสอนนิสสัยว่าเป็นอดิเรกลาภส่วนหนึ่งถวายได้ไม่จำกัดกาลสุดแต่ศรัทธา สำหรับในปัจจุบันนิยมทำในฤดูที่มีผลไม้อุดมสมบูรณ์ ในระหว่างเดือน 6 จนถึงเดือน 8 พอถึงกำหนดชาวบ้านจะนำสำรับกับข้าว และเครื่องไทยทานตามกำลังของตนไปวัด เพื่อจับหมายเลขฉลากติดสำรับ พระภิกษุก็ต้องจับฉลากอีกชุดหนึ่งด้วย พระจับได้เบอร์อะไรของเจ้าภาพคนใด ก็ไปฉันสำรับกับข้าวที่เจ้าภาพนำมา ข้อสำคัญในการทำบุญสลากภัต ก็คือ เป็นการถวายทานแบบไม่เจาะจงตัวผู้รับ เมื่อพระองค์ใดจับได้เบอร์ของเจ้าภาพ เจ้าภาพไม่ควรแสดงความยินดียินร้ายในผู้รับ ก่อนที่จะมีการเส้นสลาก(จับสลาก) ก็จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย ๑ กัณฑ์ ต่อจากนั้นก็จะมีการยกของประเคนตามสลากเมื่อพระฉันเสร็จแล้ว ก็จะอนุโมทนาและให้พร เจ้าภาพก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอันเสร็จพิธี
สำหรับสลากภัตที่อำเภอตากฟ้า ได้จัดมาเป็นประจำทุกปี โดยการนำของพระราชปัญญาเวที รองเจ้าคณะภาค เจ้าอาวาสวัดตากฟ้า พระอารามหลวง ร่วมกับสภาวัฒนธรรมอำเภอตากฟ้า ได้จัดงานประเพณีสลากภัต ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการ สถานศึกษา และประชาชนในเขตอำเภอตากฟ้า เป็นอย่างดี กำหนดจัดตรงกับวัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ตรงกับวันวิสาขบูชา
กิจกรรมที่จัด
๑. ประกวดขบวนแห่สลากภัต ประกวดสำรับสลากภัตและประกวดเทพีสลากภัต
๒. จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมของหน่วยงานและสถานศึกษา อำเภอตากฟ้า