พอสิ้นรัชกาลที่ ๔ บ้านเมืองกลับเข้าสู่ยุคสั่นคลอน บ้านเมืองไม่มั่นคงนัก โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์! นอกจากอังกฤษ ฝรั่งเศส ที่พยายามจะล่าอาณานิคมแล้ว ยังมีวังหน้า มีขุนนางเขี้ยวลากดิน ที่ดูเหมือนจะท้าทายพระมหากษัตริย์วัย ๑๕ พรรษา ที่รอให้มาทรงงานอยู่
พระปรีชากลการเติบโตพร้อมกับยุคของพระปิยะมหาราช ท่านเป็นขุนนางหนุ่มหน้าตาดีที่รุ่งโรจน์ในชีวิตคนหนึ่งของสยาม เป็นขุนนางที่โปรดปรานใต้เบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ ๕) มีผลงานโดดเด่นมากมาย ทั้งการต่อเรือกลไฟ ควบคุมการเดินเรือพระที่นั่ง ตลอดจนดูแลการผลิตเหรียญกษาปณ์ แต่ต่อมาทางการได้แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี
แต่เชื่อว่าการได้เป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรีเป็นทุกขลาภ ที่เหมือนโดนกลั่นแกล้งมากกว่า เพราะผมคิดว่า โดยพื้นฐานท่านเป็นวิศวกร จะไปรู้เรื่องการเมืองการปกครองได้อย่างไร แต่ในขณะนั้นเมืองปราจีน ติดกับกัมพูชาที่ถูกฝรั่งเศสยึดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ทำให้ชายแดนไทยกับกัมพูชาเวลานั้น อันตรายยิ่ง หากพลาดพลั้งไปมีเรื่องมีราว เกิดสงคราม โทษอาญาใหญ่หลวงแน่
และในที่สุดท่านพบรักกับสาวลูกครึ่งอังกฤษผู้เลอโฉม ซึ่งเธอเป็นที่หมายปองของชายหนุ่มชั้นสูงในสยามมากมาย เธอเป็นลูกสาวกงศุลอังกฤษ มิตรที่ถือมีดอยู่ด้านหลัง แต่เธอมีใจให้พระปรีชากลการก่อน
เจ้าพ่อสำอาง อดีตเจ้าเมืองกบินทร์บุรี ประชาชนในพื้นที่มากราบไหว้ขอพรก่อนบวชนาค จะมาขอพรเป็นพระเพื่อความเป็นศิริมงคล
ผลงานหรือเกียรติคุณที่ได้รับ
จากการที่พระปรีชากลการ มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์ และความรู้ความชำนาญ ภาษาอังกฤษจึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทำงานได้รับบำเหน็จ ความชอบต่อมาได้เป็นแม่กอง มาทำเหมืองทองคำที่ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อนำเอาทองคำไปให้รัฐบาลไทย นำมาเจือโลหะทำเหรียญกระสาปน์ มีร่องรอยการขุดเจาะทำเหมือง เห็นได้ชัดที่ริมถนนเส้นทางบ้านหนองสังข์ เข้าไปตำบลวังตะเคียน มีถนนเจ้าพ่อสำอางค์ ซึ่งเป็นถนนที่ท่านสร้างขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงแร่ทองคำ พระปรีชากลการคงทำการขุดแร่ทองคำที่บ่อนางชิง แล้วบรรทุกเรือล่องมาตามลำน้ำปราจีนบุรี ขนขึ้นทำการถลุงที่โรงจักร ซึ่งพระปรีชากลการให้สร้างโรงจักรถลุงแร่ทองคำที่ฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรีริมวัดหลวงปรีชากูลด้านทิศตะวันออก อยู่ใกล้กับกำแพงเรือนจำปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งสนามเทนนิสของอำเภอเมืองปราจีนบุรี สถานที่ถลุงและเตาหลอมขณะนี้ยังปรากฏอยู่ที่บริเวณบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี
ในหนังสือประวัติการและความจำของรองอำมาตย์โท หลวงบำรุงรัฐนิกร (บุศย์ เอนกบุณย์) ได้เขียนบันทึกถึงเหตุการณ์ก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบประหารชีวิต พระปรีชากลการได้กล่าวอย่างละห้อยน่าสงสารว่า “...โบสถ์สร้างขึ้นยังไม่ทันแล้ว เพราะได้เมียฝั่งตัวจึงตาย แดดร้อนดังนี้ ทำไมจะได้สติ เมื่อตายแล้วเราจะไปอยู่ที่หลังคาแดง โน้น...” ก็ปรากฏมีวัดหลวงปรีชากูลมาจนถึงปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าพระปรีชากลการจะมีชะตากรรมต้องโทษทัณฑ์ด้วยการถูประหารชีวิต ท่านก็ได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน และ จังหวัดปราจีนบุรีไว้ไม่น้อย เช่น ด้านการสร้างถนน สถานที่ราชการ อาคารต่าง ๆ โรงงาน เครื่องจักรสำหรับทำทอง บูรณะและสร้างอุโบสถวัดหลวงปรีชากูล เป็นต้น ปัจจุบันสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของพระปรีชากลการ เช่น บ่อทองนางเชิง ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี และศาลเจ้าพ่อสำอางค์ อำเภอเมืองปราจีนบุรี เป็นสถานที่สำคัญที่พิสูจน์ว่า เจ้าพ่อสำอางยังคงเป็นที่เคารพบูชาของชาวเมืองปราจีนบุรีจนถึงปัจจุบัน