ตุ๊กตาผู้หญิงสังคโลก ในปากอมเมี่ยงและอุ้มลูก นั่งพับเพียบ เคลือบสีเขียว ศิลปะสุโขทัย
เครื่องสังคโลก หมายถึงเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นเป็นรูปภาชนะเครื่องใช้ และเครื่องประดับ
อาคารต่าง ๆ เช่น ถ้วย จาน ชาม ไหดิน โอ่งน้ำ ขวดดิน กระปุก ป้านน้ำชา ช้อน ตลอดจนตุ๊กตา
รูปคนรูปสัตว์ เช่นช้าง รูปยักษ์ รูปเทวดา พระพุทธรูป กระเบื้องมุงหลังคา สิงห์สังคโลก ลูกมะหวด
ท่อน้ำตุ๊กตาเสียกบาล ตัวหมากรุก ช่อฟ้า บราลี ฯลฯ มีทั้งเคลือบน้ำยาและไม่เคลือบน้ำยา
มีลักษณะเด่นคือเป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบเนื้อละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อแตกลายงาสีเขียว
ไข่กาบางครั้งเรียกชื่อเครื่องปั้นดินเผาสีเขียวว่า “เซลาดอน”หรือ “ศิลาดล”ซึ่งเคลือบสีในระดับ
ต่าง ๆ กัน เช่น สีเขียวไข่กา สีเขียวมะกอก
คำว่าสังคโลก สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า“ซ้องโกลก”แปลว่า เตาแผ่นดินซ้อง หรืออาจ
มาจากคำว่า“ซันโกโรกุ"ในภาษาญี่ปุ่น หรืออาจเพี้ยนมาจากคำว่า สวรรคโลก อันเป็นชื่อที่
แพร่หลายของเมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัย ชื่อเครื่องปั้นดินเผาสังคโลกจึงมีความหมายเดิม
จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณเชลียงหรือศรีสัชนาลัยและเมืองที่สัมพันธ์กันคือสุโขทัย ดังได้พบเตาผลิต
มากมายในบริเวณนี้ อย่างไรก็ตามเตาผลิตทางภาคเหนือของไทยอีกหลายแห่งได้ผลิต
เครื่องปั้นดินเผาประเภทที่เรียกว่า สังคโลก เช่นกัน
การกำหนดอายุเครื่องสังคโลกจากหลักฐานที่ค้นพบเครื่องสังคโลกกับเครื่องถ้วยสีเขียว
ของจีนสมัยราชวงศ์หยวนในเรือที่จมใต้อ่าวไทยชื่อ เรือรางเกวียน กำหนดอายุประมาณต้น
พุทธศตวรรษที่ 19 และศึกษาเปรียบเทียบเครื่องสังคโลกกับเครื่องปั้นดินเผาจีนสมัยราชวงศ์หมิง
ที่พบที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้กำหนดเครื่องสังคโลกให้มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19 การผลิต
เครื่องสังคโลกเริ่มสมัยสุโขทัย แต่ได้รับการส่งเสริมเป็นสินค้าออกและขยายการผลิตจำนวนมาก
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา การผลิตเครื่องสังคโลกลดลงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 เหตุผลสำคัญ
ประการหนึ่งที่ทำให้ตลาดการค้าสังคโลกเปลี่ยนแปลงคือ การที่จีนหวนกลับมาผลิตเครื่อง
ลายครามน้ำเงิน-ขาว ซึ่งกลายเป็นที่นิยม และการค้าสมัยกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแปลงไปตาม
ข้อเรียกร้องของชาวตะวันตกที่มีบทบาททางการเมืองในภูมิภาคนี้
ประเภทของเครื่องสังคโลก แบ่งได้ตามลักษณะเนื้อดินและลวดลาย และแบ่งตามเตาเผา
1. ลักษณะเนื้อดินและลวดลาย เนื้อดินเป็นประเภทเนื้อแกร่ง หรือสโตนแวร์ (stoneware)
ซึ่งใช้อุณหภูมิในการเผาสูงประมาณ 1150-1280 องศาเซลเชียส เทคนิคการตกแต่งทั้งการเคลือบ
และลวดลายมีต่าง ๆ กัน ดังนี้
¤ เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ ประดับลวดลายด้วยการใช้แม่พิมพ์กดลวดลาย
ประทับเช่น ลายก้านขด หรือลายเรขาคณิต มีการประดับด้วยวิธีปั้นดินแล้วแปะติดเข้ากับภาชนะ
ก่อนเผา
¤ เครื่องถ้วยสีน้ำตาลเข้ม เป็นการเคลือบสีพื้นเดียว ลักษณะรูปแบบและสีน้ำเคลือบ
คล้ายกับเครื่องถ้วยลพบุรีประเภทเคลือบสีน้ำตาล
¤ เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายใต้เคลือบน้ำตาลดำ ลักษณะคล้ายเครื่อง
ถ้วยจีนจากเสาสือโจ้ว กับเครื่องถ้วยอันหนาน (เครื่องถ้วยของเวียดนาม)
¤ เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายบนเคลือบสีน้ำตาลทอง
¤ เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวไข่กา หรือ เซลาดอน ซึ่งตกแต่งลวดลายด้วยวิธีการขูด
และขุดลายในเนื้อดินแล้วเคลือบทับ คล้ายคลึงกับเครื่องถ้วยจีนจากเตาหลงฉวน สมัยราชวงศ์ซุ้ง
ตอนปลายถึงราชวงศ์หยวน (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20)
ลวดลายที่ปรากฏในถ้วยชามสังคโลก เป็นลวดลายเฉพาะ ที่พบมากในจาน ชาม คือ
รูปปลา กงจักร ดอกไม้ โดยเฉพาะรูปปลานั้นสันนิษฐานว่าเป็น ปลากา มิใช่ปลาตะเพียนที่เข้าใจ
กันมาแต่ก่อน เพราะพบในชามสังคโลกใบหนึ่งมีอักษรลายสือไท เขียนบอกชื่อปลาไว้ว่า
"แม่ปลาก่า"อยู่ใต้ตัวปลา ปลากา เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งรูปร่างคล้ายปลาตะเพียนมีอยู่ 2 ชนิด
คือ ปลากาดำและปลากาทรงเครื่องทั้งสองชนิดมีมากในแม่น้ำลำคลองทั่วไป โดยเฉพาะที่แม่น้ำยม
แหล่งเตาเผามีอยู่ 3 แห่ง คือ
เครื่องสังคโลกเตาสุโขทัย หรือเรียกว่า เตาทุเรียงสุโขทัย
ปัจจุบันอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
เป็นภาชนะถ้วยชามเป็นส่วนใหญ่ เนื้อดินค่อนข้างหยาบ ชุบน้ำดินสีขาวลวดลายสีดำ การเรียง
ถ้วยชามเข้าเตาเผาแห่งนี้จะใช้ กี๋ คือ จานที่มีขาปุ่ม 5 ปุ่ม วางคั่นระหว่างชามต่อชาม ดังนั้น
ภายในชามของเตาสุโขทัยจะปรากฏรอย 5 จุด อยู่
เครื่องสังคโลกเตาทุเรียงป่ายาง
ปัจจุบันอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม เหนือ
แก่งหลวงอยู่ใกล้เมืองเก่าศรีสัชนาลัย เครื่องสังคโลกที่ได้จากแหล่งนี้มีลวดลายและน้ำยา
เคลือบสวยงามรูปแบบพิเศษกว่าเตาเผาแหล่งอื่น แยกเป็นเตาเผารูปยักษ์ นาค มังกร และเตา
รูปตุ๊กตาสันนิษฐานว่าเตานี้จะเป็นเตาหลวง
เครื่องสังคโลกเตาทุเรียงเกาะน้อย
ปัจจุบันอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ริมฝั่งคลองบางบอน ตำบลหนองอ้อ
อำเภอศรีสัชนาลัย เป็นภาชนะถ้วยชาม จาน จานเชิง โถ ขวด มีหลายสีเช่น สีน้ำตาล สีเหลืองอ่อน
สีเขียวไข่กา สีขาว การเรียงเครื่องถ้วยเตาเผาไม่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างเตาสุโขทัย แต่วางบนกี๋
แท่งกลวง ก้นชามที่เตาเกาะน้อยนี้จะเป็นวงแหวนปรากฏอยู่