ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 18° 50' 54.7566"
18.8485435
Longitude : E 98° 43' 55.2547"
98.7320152
No. : 142820
เฮือนไทลื้อ
Proposed by. netima Date 3 July 2012
Approved by. เชียงใหม่ Date 2 October 2012
Province : Chiang Mai
0 2823
Description

เฮือนไทลื้อ

จากการศึกษาข้อมูลในชุมชนไทยลื้อ บ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเข้าไปสัมภาษณ์ช่างไม้โบราณในหมู่บ้าน หรือ ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “สล่า” จำนวน 5 คน ได้แก่

1. พ่ออุ้ยหนานปัน กาตะโล อายุ 81 ปี
2. พ่ออุ้ยน้อยดวงคำ สาธุเม อายุ 81 ปี
3. พ่อน้อยสิทธิ์พันธ์ กาตะโล อายุ 60 ปี
4. พ่อแดง กาตะโล อายุ 57 ปี
5. พ่ออุ้ยน้อยมี พุทธโส อายุ 78 ปี

ขั้นตอนในการสร้างบ้านของชาวไทยลื้อ จะมีการเตรียมความพร้อมและวางแผนเป็นเวลานานประมาณ 1 ปี มีการปรึกษากันระหว่างเจ้าของบ้านกับ “สล่า” ประจำหมู่บ้าน เพื่อเตรียมไม้ที่ใช้ในการสร้างบ้าน อีกทั้งในการเริ่มต้นที่จะสร้างบ้านต้องเตรียมปรับพื้นที่ที่จะสร้าง และต้องทำพิธีบูชาพญานาค ขึ้นต้าวตึงสี่ (ท้าวทั้งสี่) เตรียมแปลนในการขุดหลุมเสาบ้าน และทำการ “ปกบ้าน” หรือ “ปกเสาเรือน” ทำโครงสร้างของบ้านซึ่งประกอบด้วย “ก่ายขื่อ”, “ก่ายแป๋”, “ใส่แวง”, “ใส่ต๋ง”, “ตั้งเก็นฝา” และ ทำโครงป่อง(หน้าต่าง) โครงประตู หลังจากนั้น มุงหลังคาบ้าน ปูพื้น ตี๋ฝา และใส่ป่อง ใส่ประตู

จากคำบอกเล่าของสล่าในการสร้างบ้านของคนสมัยก่อนจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันของคนทั้งหมู่บ้าน การสร้างบ้านหากทำคนเดียวจะไม่มีทางแล้วเสร็จ เพราะเป็นงานใหญ่ งานหนักต้องใช้แรงร่วมกันหลายๆ คน

ในการสร้างบ้านของชาวไทยลื้อนิยมใช้เสาที่มีความยาว 12 ศอก หรือเมื่อเทียบกับมาตราเมตริกที่ใช้กันทั่วไปประมาณ 6 เมตร และเสาก็มีส่วนที่ฝังดินอยู่ 2 ศอก หรือประมาณ 1 เมตร ส่วนใต้ถุน 4 ศอก หรือประมาณ 2 เมตร และส่วนชั้นบน 6 ศอก หรือประมาณ 3 เมตร

หลักการแนวคิดคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านของชาวไทยลื้อ

จากการศึกษาพบว่าการสร้างบ้านของชาวไทยลื้อ ไม่มีการเขียนแบบแปลนไว้ก่อน มีเพียงแปลนในการกำหนดระยะห่างของเสาบ้านแต่ละเสา แนวคิดในการสร้างบ้านของชาวไทยลื้อที่น่าสนใจ ได้แก่

๑.การสร้างหลังคาให้เป็นหน้าจั่ว มีความสมดุลกันได้อย่างพอดี และเหมาะสม

แนวคิดในการสร้างหลังคา คือ เมื่อตั้งวางขื่อเรียบร้อยแล้ว จะได้ว่า

หากเรือนนั้นมุงด้วยใบตอง ให้ตั้งเสาดั้งโดยให้มีขนาดครึ่งหนึ่งของขื่อ

หากเรือนนั้นมุงด้วยดินขอ ให้ตั้งเสาดั้งโดยหักขนาดขื่อสามส่วนตั้งเสาดั้งสูงหนึ่งส่วน

หากเรือนนั้นมุงด้วยกระเบื้อง ให้ตั้งเสาดั้งโดยหักขนาดขื่อสี่ส่วนตั้งเสาดั้งสูงหนึ่งส่วน

จากข้อมูลที่ปรากฏจะได้ว่า หลังคาที่ใช้ตามหลักการดังกล่าวข้างต้นจะมีสัดส่วนที่สมดุลและสวยงาม สามารถรองรับน้ำฝนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ในการสร้างหลังคาที่เป็นหน้าจั่วจะใช้ลูกดิ่งเพื่อหามุมตั้งฉากกับพื้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังคามีรูปแบบที่เป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วเข้ากันเป็นอย่างดี อีกทั้งมีแนวคิดในการมุงหลังคาบ้านด้วยดินขอ ใช้วิธีการปูดินขอสองชั้น ชั้นที่สองจะปูแป้นเกล็ดทับร่อง หรือรอยต่อระหว่างแผ่นดินขอ 2 ใบ ทำให้รองรับน้ำฝนได้ น้ำฝนไม่สามารถซึมผ่านลงไปในตัวบ้านได้

๒.การสร้างมุมฉาก

ในการเข้าฉากของโครงหน้าต่าง โครงประตู นอกจากจะใช้เครื่องมือวัดฉากคือไม้ฉากหรือศอกคู้ แล้ว ภูมิปัญญาของชาวไทยลื้อโบราณที่เล่าสืบต่อกันมาในเรื่องการสร้างมุมฉาก คือ ให้ใช้สามเหลี่ยมที่มีความยาวแต่ละด้านเป็น 3 ศอก 4 ศอก และ 5 ศอก หรือใช้ไม้ตอกจำลองเป็นมุมในสามเหลี่ยม โดยให้ด้านแต่ละด้านยาว 3 นิ้ว 4 นิ้ว และ 5 นิ้ว ซึ่งหลักความรู้นี้สอดคล้องกับทฤษฎีบทของปีทาโกรัส นอกจากนี้มีแนวคิดในการตรวจสอบมุมฉาก คือ ใช้เชือกยาวเท่ากันวัดแนวทะแยงมุมในแต่ละด้านของสี่เหลี่ยม เช่น การตรวจสอบมุมฉากของโครงหน้าต่าง จะใช้เชือกยาว AC เพื่อวัดแนวทะแยงจากมุม A ไปมุม C แล้วย้ายเชือกที่มีขนาดเท่าเดิมวัดแนวทะแยงจากมุม B ไปมุม D แล้วถ้าวัดขนาดได้พอดีแสดงว่า โครงหน้าต่างนี้เป็นสี่เหลี่ยมมุมฉากแล้ว บางคนใช้ไม้ที่มีขนาดเท่ากันสองเล่มตีแนวทะแยงให้ไม้สองเล่มนั้นแบ่งครึ่งกันพอดี สามารถตรวจสอบได้เช่นกัน

๓. ความเชื่อที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านของชาวไทยลื้อ

ก่อนที่จะสร้างบ้านต้องดูที่เสียก่อนว่าพื้นที่ ที่จะสร้างบ้านนั้นดีหรือไม่ดี จะรู้ได้โดยการถามคนเฒ่าคนแก่ที่รู้ของหมู่บ้านและต้องดูพื้นที่ว่าพื้นที่ที่เราจะสร้างบ้านนั้นมีตอไม้และมอง (กระเดืองตำข้าวสมัยก่อน) หรือไม่ ถ้ามีให้เลี่ยงที่จะใช้พื้นที่นั้น หรือให้ขุดออกถ้าไม่ขุดออกถือว่าขึด (ไม่เป็นมงคล จะเกิดเหตุร้ายกับคนภายในบ้าน เช่น ไม่สบายบ่อยๆอาจเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายหรือรักษาโรคนั้นยากและอาจถึงตายได้) เมื่อได้พื้นที่ที่จะสร้างบ้านที่ดีแล้ว ก็จะเริ่มสร้างบ้านได้เลย เริ่มจากการชักเชือกตามแปลนหลุมเสาที่ได้กำหนดไว้แล้ว โดยทำเป็นตาราง เมื่อเสร็จแล้วก็ขุดหลุม ต่อจากนั้นมีการปกเสาบ้าน ซึ่งจะปกเสาพญาก่อน โดยก่อนที่จะเอาเสาพญาลงหลุม (เสาพญาคือเสามงคลจะอยู่ทางทิศตะวันออกของห้องนอนของเจ้าบ้าน) จะมีพิธีปูจาพญานาค (บูชาพญานาค)เสร็จพิธีแล้วก็จะปก (ตั้ง) เสาพญาขึ้น ในการปกเสาพญาจะปกในวันขึ้นเต้าตังสี่จะมีการผูกเสามงคล ในวันปกเสาบ้านก็จะมีอีกพิธีหนึ่งคือ พิธีเชิญพ่อเจ้ามาแล้วทำหอพระเจ้า

การสร้างบ้านส่วนมากจะใช้เสาเป็นเลขคี่บ้าง เลขคู่บ้าง มีหลักความเชื่อที่ใช้ในการนับเสาว่าดีหรือไม่ดี คือ เอาจับ(ตรง)ฉโลกว่า (ฉโลกคือการนับเสาว่าดีหรือไม่ดี) มีรายละเอียดดังนี้

การนับฉโลกเสาบ้าน

เสาต้นที่ 1 น้ำบ่อน้อยกินเย็นดีเพราะมีน้ำบ่อน้อยเย็นๆไว้กินที่บ้านหรือ ครอบครัวอยู่อย่างมีความสุขบ้านร่มเย็น

เสาต้นที่ 2 ผีเข็นอยู่ใต้ล่างไม่ดีเพราะผีคอยรบกวนหรือรังควานอยู่ใต้ถุนบ้าน ถ้าโดนผีมาทำร้ายอาจไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วยได้

เสาต้นที่ 3 ละเฮินห่างแป๋งหอคอยไม่ดีเพราะอาจจะต้องย้ายบ้านทำให้บ้านใหม่อาจเป็นบ้านร้างได้

เสาต้นที่ 4 หยิบถุงราใส่เงินผ่อนดีเพราะเงินจะไหลมาเทมาในภายถาคหน้า ให้เจ้าของบ้านเตรียมเย็บ(หยิบถุง ภาษาไทยลื้อ คือเย็บถุง )ถุงเงินเพื่อที่จะใส่เงินที่กำลังจะไหลมาเทมา

เสาต้นที่ 5 ปั้นข้าวอ่อยลูกผีไม่ดีเพราะอาจจะต้องได้เลียงผี เพื่อไม่ให้มีการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเพื่อไม่ให้ผีมารบกวนเจ้าบ้าน หรือทำให้เจ้าป่วยป่วยไข้

เสาต้นที่ 6 เอาลูกเศรษฐีมาเป็นเปิน(เพื่อน)ไม่ดีเพราะส่วนมากลูกเศรษฐีจะขี้เกียจเพราะมีเงินมากไม่ต้องหาก็ได้ ถ้าคบแล้วลูกตนเองอาจเป็นคนขี้เกียจไปด้วย

เสาต้นที่ 7 เอาไม้เถิน(เถื่อน)มาเป็นเสามงคลดีเพราะสมัยก่อนควรใช้ต้นไม้เถื่อนคือต้นไม้ที่อยู่ในป่าลึกที่ไม่มีเจ้าของมาเป็นเสาบ้านจึงมีมงคล จะเห็นได้ว่า “ไม้เถื่อน”ในสมัยก่อนมีความหมายดี แต่ในปัจจุบัน “ไม้เถื่อน”คือไม้ที่ผิดกฎหมาย

วิธีการนับก็คือ นับเวียนกันไปจนดูว่าตกเสาที่เราต้องการ เช่น เจ้าของบ้านอยากได้เสาประมาณ 20 ต้น ไม่ดีเพราะตกอยู่ที่ข้อ 6. เอาลูกเศรษฐีมาเป็นเพื่อน เป็นต้น เมื่อไม่ดีเจ้าบ้านก็จะได้วางแผนคิดหาจำนวนเสาที่เป็นมงคลต่อไป

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่า ในการสร้างบันไดบ้านสองข้างนั้น บันไดบ้านควรจะขึ้นทางทิศเหนือและทิศใต้ หรือขึ้นทางตะวันออกและทิศเหนือ แต่ไม่ควรขึ้นทางทิศตะวันออกและตะวันตก บ้านของคนไทยลื้อจะนิยมปลูกบ้านใต้ถุนสูงประมาณ 2 เมตรจึงทำให้มีบันไดสูงและจำนวนซี่บันไดควรเป็นเลขคี่เพราะถือว่าเป็นเลขดี ถ้าเป็นเลขคู่จะทำให้ขึดบ้านขึดเมือง (ไม่เป็นมงคลต่อบ้านต่อเมือง)

บ้านของชาวไทยลื้อจะนิยมติดกาแลไว้ที่หน้าจั่วที่หลังคาบ้านและมีจานบ้าน (ระเบียงบ้าน) ความเชื่อของกาแลมีความเชื่อที่ไม่สำคัญมากนัก เพราะกาแลที่เห็นมีทุกบ้านนั้นชาวไทยลื้อสร้างไว้เพื่อความงามเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยลื้อและมีอีกอย่างหนึ่งที่ชาวไทยลื้อสร้างกาแลไว้ก็เพื่อกันลม กาแลสามารถกันลมได้เพราะเป็นความเชื่อที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายของชาวไทยลื้อ จึงเป็นความเชื่ออีกอย่างหนึ่งในการสร้างบ้าน ชาวไทยลื้อจึงทำกาแลสืบต่อกันมา แตกต่างกับปัจจุบันมากเพราะบ้านแต่ละหลังเป็นบ้านแบบชาวตะวันตกที่ชาวไทยลื้อนำมาใช้ในการสร้างบ้าน จึงทำให้กาแลสูญหายไปแต่บางบ้านก็สร้างกาแลไว้ก็เพื่อความสวยงาม ในหมู่บ้านแม่สาบนี้ไม่ค่อยมีบ้านทรงไทยลื้อจริงๆ ปัจจุบันเหลือเพียงหลังสองหลังเท่านั้นที่เป็นทรงไทลื้อดั้งเดิม

นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าทำบุญขึ้นบ้านใหม่เสร็จแล้วจะไม่สามารถต่อเติมบ้านแม้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่ถ้าต่อเติมบ้านชาวไทยลื้อเชื่อกันว่ามันจะขึด (ไม่เป็นมงคล จะเกิดเหตุร้ายกับคนภายในบ้าน เช่น ไม่สบายบ่อยๆอาจเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายหรือรักษาโรคนั้นยากและอาจถึงตายได้) แต่สามารถต่อเติมบ้านได้โดยใช้วิธีทำบ้านอีกหลังหนึ่งไว้ข้างๆได้โดยไม่ให้หลังคาหรือไม้ติดหรือพิงกับบ้านที่ทำบุญขึ้นบ้านใหม่แล้ว แต่สมัยนี้บางบ้านก็จะมีการต่อเติมบ้านเพราะสมัยนี้ไม่ค่อยถือเรื่องความเชื่อของคนสมัยก่อนแล้ว และในสมัยก่อนบ้านของชาวไทลื้อจะมีอีกส่วนหนึ่งที่ยื่นออกไปใกล้กับตัวบ้านเรียกว่าจานกอน มีไว้สำหรับทำครัว หรือเป็นที่ล้างถ้วยชาม ปลูกดอกไม้ โดยมีบันไดที่อยู่ในแนวระนาบวางพาดเพื่อเชื่อมระหว่างบ้านกับจาน(ชานบ้าน)กอน ซึ่งในปัจจุบันไม่ปรากฎเห็นจาน(ชานบ้าน)กอนในยุคอีกเลย

Location
ชุมชนบ้านแม่สาบ
Moo 1
Tambon สะเมิงใต้ Amphoe Samoeng Province Chiang Mai
Details of access
Reference คุณอินรบ พุทธโส
Tambon สะเมิงใต้ Amphoe Samoeng Province Chiang Mai ZIP code 50250
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่