ในวันที่ ๒๐ เมษาของทุกปี องค์การบริหารส่วนตำบลชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี จะจัดงานพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณ พลตรี มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมชขึ้นเป็นประจำทุกปี สำหรับในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔ จัดงานบวงสรวงดวงวิญญาณ พลตรี มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ๑๐๐ ปี ปราชญ์สยามมีทั้งพิธีพรามหณ์ พิธีสงฆ์ กลางคืนมีมหรสพสมโภช เช่นการแสดงลิเก การแสดงโขน และงานที่เคยจัดมาแล้วในปีก่อน ๆ ได้แก่จัดทำโครงการสืบสานตำนานเมืองสิงห์ พลตรี มรว.คึกฤทธ์ ปราโมช(ปราชญ์ของแผ่นดิน)และการเสวนา รำลึกคึกฤทธ์ ร่วมเนรมิตเมืองรวมทั้งจัดให้มีโครงการการออกค่ายเยาวชนโขนธรรมศาสตร์ขึ้นอีกด้วย
พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 เกิด 20 เมษายน 2454 ที่ จังหวัดสิงห์บุรี สัญชาติ ไทย ศาสนา พุทธ
การศึกษา- โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย(วังหลัง) - โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย - โรงเรียน Trent College - ศึกษาวิชาปรัชญาเศรษฐศาสตร์และการ เมืองที่ The Queen's College มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม – ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด- ปริญญาวารสารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ระยะเวลาดำรงตำแหน่งรัฐบาลที่ 37 : 17 มีนาคม 2518 - 12 มกราคม 2519
ประวัติการทำงาน
- รับราชการที่กรมสรรพากร
- เลขานุการที่ปรึกษากระทรวงการคลัง
- ผู้จัดการธนาคารพาณิชย์ สาขาลำปาง
- รับราชการทหาร[ เมื่อเกิดสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา]
- หัวหน้าฝ่ายสำนักผู้ว่าการและหัวหน้าฝ่ายออกบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
- ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด
- เขียนบทความลงในคอลัมน์ "ซอยสวนพลู"
- พ.ศ. 2531 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเป็นพลตรี (ทหารราช องครักษ์พิเศษ)
ทางการเมือง :
- พ.ศ. 2488-2489 เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกในเมืองไทย ชื่อ "พรรคก้าวหน้า"
- ได้ร่วมในคณะผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์
- ได้ริเริ่มจัดตั้งพรรคกิจสังคม
- พ.ศ. 2518 ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น และได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- พ.ศ. 2519 ได้ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร บริหารประเทศประมาณ 9 เดือน
งานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย
· พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาทรงครอบครูพระพิราพแก่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วยพระองค์เองในพิธีไหว้ครูและพิธีครอบโขนละคอนที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ค.2506
· อัจฉริยภาพทางด้านศิลปะของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปรากฏในงานเขียนซึ่งมีทั้งงานประพันธ์และงานวิจารณ์ งานแสดงนาฏศิลป์ทั้งโดยตนเอง และโดยการส่งเสริมนาฏศิลปและดนตรีประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่นาฏศิลป์ระดับสูง คือ โขน ละคร ไปจนถึงศิลปะพื้นบ้าน เช่น การเล่นสักวา เพลงเรือ เพลงฉ่อย งานส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะและดนตรีไทย ที่สำคัญที่สุดคือการจัดตั้ง “โขนธรรมศาสตร์” ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2509 เพื่ออบรมให้เยาวชนไทยเข้าใจถึงเรื่องของโขน ซึ่งถือว่าเป็นนาฏศิลป์สูงสุดของไทย
· ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2528 ในวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ อันเป็นวันครบรอบชาตกาล ๑๐๐ ปี ของศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และเป็นการเฉลิมฉลอง เนื่องในโอกาสองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) มีมติประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน