รายการสุขนาฏกรรม ของ กรมศิลปากร
วันทนีย์ ม่วงบุญ จัดทำคำบรรยาย
1. การแสดงชุดตรีลีลา
(ฟ้อนเทียน ฟ้อนแพน ฟ้อนเงี้ยว)
“ตรีลีลา” เป็นชื่อการแสดงอย่างหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทยของกรมศิลปากร ได้คิดประดิษฐ์ขึ้น โดยนำเอาการแสดงอันมีลีลาท่าร่ายรำ ท่วงทำนองจังหวะเพลง และเครื่องแต่งกาย ที่แตกต่างกันถึง 3 ชุด มาแสดง เชื่อมต่อให้ผสมผสานกลมกลืนกัน ได้แก่ ฟ้อนเทียน ซึ่งเป็นฟ้อนในราชสำนักทางเหนือ โดยสตรีชาวเหนือจะแต่งกายด้วยชุดฟ้อน มือทั้ง 2 ถือเทียนออกมาร่ายรำไปตามท่วงทำนองและจังหวะเพลงที่อ่อนช้อยนุ่มนวล ฟ้อนแพน ซึ่งเป็นฟ้อนแบบไทยพื้นเมืองภาคเหนือ ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะร่ายรำในท่าแสดงความรักต่อกันไปตามเสียงเพลงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีจะเข้ในเพลงลาวแพน และฟ้อนเงี้ยว อันเป็นศิลปะการรำ ของชาวเขาเผ่าหนึ่งทางภาคเหนือของไทย โดยฝ่ายชายและหญิงจะร่ายรำอำนวยพร ด้วยท่าทางสนุกสนานไปตามเนื้อร้องและท่วงทำนองจังหวะของเพลง
2. โขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกแสงอาทิตย์
พระยาขร เจ้าเมืองโรมคัล เป็นน้องชายของท้าวทศกัณฐ์เจ้ากรุงลงกา มีโอรสสององค์ คือมังกรกัณฐ์ผู้พี่และแสงอาทิตย์ผู้น้อง พระยาขรถูกพระรามสังหารเมื่อครั้งที่ นางสำมนักขามายุยงให้ไปแก้แค้นแทนนางที่ถูกพระราม พระลักษมณ์ทำร้าย มังกรกัณฐ์จึงขึ้นครองเมืองโรมคัลแทนบิดา และแสงอาทิตย์เป็นอุปราช เมื่อศึกพระรามข้ามมาถึงกรุงลงกา ทศกัณฐ์ขอให้มังกรกัณฐ์ผู้เป็นหลาน ออกไปรบเพื่อขัดตาทัพ มังกรกัณฐ์ได้ถูกพระรามฆ่าตาย ครั้นแสงอาทิตย์ทราบข่าวพี่ชายสิ้นชีวิตจึงยกกองทัพยักษ์จากโรมคัลมารบกับพระรามเพื่อแก้แค้นแทนพ่อและพี่ชาย พิเภกกราบทูลพระรามให้ทรงทราบว่านายทัพยักษ์ที่ยกมาคือแสงอาทิตย์มีฤทธิ์ด้วยแว่นวิเศษสามารถส่องสังหารศัตรูให้พินาศไปในพริบตา เวลานี้ฝากไว้ กับพระพรหมธาดา เวลาจะใช้จึงจะให้พี่เลี้ยงชื่อพิจิตรไพรี ไปขอเอาลงมา ถ้าพระรามทรงใช้ให้องคตแปลงกายเป็นพิจิตรไพรีขึ้นไปลวงล่อขอเอาแว่นมณีจากพระพรหมธาดา แล้วจึงยกกองทัพออกไปรบจะมีชัยชนะแสงอาทิตย์ พระรามจึงตรัสใช้องคตให้ไปกระทำการตามคำที่พิเภก
กราบทูล และมีรับสั่งให้พิเภกแปลงกายเป็นพิจิตรไพรีให้องคตได้ดูรูปร่าง เมื่อองคตจดจำรูปร่างของพิจิตรไพรี ได้ขึ้นใจแล้ว จึงแปลงกายเป็นพิจิตรไพรีเหาะไปเฝ้าพระพรหมธาดาขอแว่นวิเศษมาถวายพระราม พระรามทรงทำลายแว่นวิเศษแล้วทรงยกกองทัพออกไปรบ แสงอาทิตย์ตรัสใช้ให้พิจิตรไพรีขึ้นไปขอประทานแว่นจากพระพรหมธาดา พิจิตรไพรีกลับทูลว่า ถูกซ้อนกลโดยศัตรูแปลงกายเป็นตนขึ้นไปขอประทานแว่นจากพระพรหมธาดามาเสียก่อน ทางที่ดีควรจะยกกองทัพกลับเมืองโรมคัลจึงจะปลอดภัย แสงอาทิตย์โกรธ ที่เสียรู้ข้าศึกและหมดอาวุธสำคัญที่จะสังหารพวกศัตรู จึงบังคับให้พิจิตรไพรีเข้ารบกับพลวานร ส่วนตนเองเข้ารบกับพระราม ซึ่งในที่สุดพระรามได้แผลงศรพรหมาสตร์ ปักอกแสงอาทิตย์ถึงแก่ความตาย ส่วนพระลักษมณ์ได้แผลงศรพลายวาตถูกพิจิตรไพรีสิ้นชีวิต
3. ละครพันทางเรื่องพระลอ ตอนพระลอตามไก่
การแสดงชุดนี้เป็นตอนหนึ่งอยู่ในละครพันทาง เรื่องพระลอ ซึ่งละครพันทางนั้นเป็นละครรำแบบผสม ปรับปรุงขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อง ลีลาท่ารำ มีทั้งท่ารำของ ชาติต่าง ๆ ผสมกับท่ารำของไทย เพลงร้องและบรรเลงมีทั้งไทยและสำเนียงภาษาของชาตินั้น ๆ การแต่งกายจะแต่งตามเชื้อชาติของตัวละคร สำหรับบทละครเรื่องพระลอนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงพระนิพนธ์ขึ้นจากกลอนลิลิตของเก่า ที่นักปราชญ์ได้แต่งขึ้นไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นซึ่งเดิมเป็นนิทานพื้นบ้านทางภาคพายัพเขตลานนาไทย มีเนื้อเรื่องเบื้องต้นและตอนแสดงพอสังเขปดังนี้ พระลอกษัตริย์หนุ่มผู้ครองนครแมนสรวงมีพระมารดาชื่อพระนางบุญเหลือ ครั้งหนึ่งได้สดับขับซอยอโฉมพระเพื่อน พระแพง ซึ่งเป็นธิดาของ ท้าวพิชัยพิษณุกรแห่งเมืองสรอง จึงเกิดความเสน่หาในความงามของพระธิดาทั้งสอง เฉกเช่น พระเพื่อน พระแพง เมื่อได้ข่าวโฉมพระลอก็เกิดความรักลุ่มหลง จึงใช้ให้นางโรย กับนางรื่นพระพี่เลี้ยงไปหาปู่เจ้าสมิงพราย ให้ช่วยทำเวทมนต์บังคับให้พระลอมาหายังเมืองสรอง เหตุนี้พระลอจึงได้ทูลลาพระมารดา เดินทางพร้อมทั้งนายแก้ว นายขวัญพระพี่เลี้ยง มายังเมืองสรอง ครั้นเดินทางมาถึงแม่น้ำกาหลงพระลอได้ลงสรงน้ำและอธิษฐานเสี่ยงน้ำว่า หากการเดินทางครั้งนี้ปราศจากภัยอันตราย ขอให้น้ำที่หลั่งลงในแม่น้ำนั้นไหลปกติ แต่ถ้ามีอันตรายเกิดขึ้นขอให้น้ำไหลวนเวียนอยู่แห่งเดียว พอสิ้นคำอธิษฐาน น้ำที่หลั่งลงไปกลับ มีสีแดงดั่งสีเลือด ไหลเชี่ยววนเวียนอยู่ตรงหน้าเป็นอัศจรรย์ แต่พระลอก็ยังทรงฝืนพระทัยเดินทางต่อไปโดยมิได้แพ่งพรายให้ผู้ใดทราบความ จากนั้น ปู่เจ้าสมิงพรายใช้ให้ไก่แก้วมาล่อพระลอ จนเข้าไปในเขตเมืองสรอง ซึ่งในที่สุดทั้งพระลอและพระเพื่อน พระแพง ก็ได้สนิทเสน่หาต่อกัน
4. การแสดงชุดไตรภาคี (สีนวน กระทบไม้ เถิดเทิง)
“ไตรภาคี” เป็นชื่อการแสดงอย่างหนึ่ง ที่ผู้เชี่ยวชาญ ด้านนาฏศิลป์ไทย ของกรมศิลปากรได้คิดประดิษฐ์ขึ้น โดยนำเอาการแสดง อันมีลีลาท่าร่ายรำ ท่วงทำนองจังหวะเพลง และเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกันถึง 3 ชุด มาแสดงเชื่อมต่อให้ผสมผสานกลมกลืนกัน ได้แก่ รำสีนวน ซึ่งเป็นการร่ายรำ ของหญิงสาวชาวภาคกลาง ที่มีลีลาอ่อนช้อย นุ่มนวล ตามท่วงทำนองของเพลง “สีนวน” อันอ่อนหวานไพเราะ รำกระทบไม้ ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวลุ่มแม่น้ำโขง แถบตะวันออกเฉียงเหนือที่บรรดาหนุ่ม-สาว จะร้องรำเกี้ยวพาราสีกัน และจับคู่กระโดดข้ามลำไม้กระบอกที่นำมากระทบกันตามจังหวะของเพลง อย่างเป็นที่สนุกสนานเบิกบานใจ ท่ามกลางแสงจันทร์สาดส่อง และรำกลองยาว หรือเถิดเทิง ซึ่งเป็นการร่ายรำเกี้ยวพาราสีกัน ไปตามจังหวะของกลองยาวที่ดังครึกครื้น สนุกสนาน
โดยฝ่ายชาย จะเป็นผู้สะพายและตีกลองยาว รำเกี้ยวกับฝ่ายหญิง
จัดแสดงที่โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี ในวันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2550