สถานที่ตั้ง
พระพุทธมงคลตะวันตกประดิษฐานอยู่ ณ วิหารภายในวัดบ้านอ้อ ตำบลอมฤต อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประวัติความเป็นมา
พระพุทธมงคลตะวันตก เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน จากคำบอกเล่าของพระครูวิบูลประชากิจ เจ้าอาวาสวัดบ้านอ้อ สันนิษฐานจากลักษณะของพระพุทธรูปน่าจะเป็นสมัยสุโขทัย เดิมที่ประดิษฐานเป็นหลังคาไม้ทั้งหลัง ต่อมาได้ทรุดโทรม และบูรณะใหม่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
สาเหตุที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระพุทธมงคลตะวันตก”เนื่องจากพระพุทธรูปหันพระพักต์ไปทางทิศตะวันตก ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งที่พระพุทธรูปจะหันพระพักต์ไปทางทิศตะวันตก อาทิเช่น พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
พระพุทธมงคลตะวันตกมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หลวงพ่อหมดกรรม” เนื่องจากมีซินแซท่านหนึ่งมาดูลักษณะพระพุทธรูปแล้วบอกว่าพระพุทธรูปลักษณะนี้เป็นพระพุทธรูปลักษณะหมดกรรม ตั้งแต่นั้นมาก็เรียกหลวงพ่อหมดกรรมอีกชื่อหนึ่ง
ความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์
พระพุทธมงคลตะวันตก หรือหลวงพ่อหมดกรรม เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน ผู้ใดได้กราบสักการะบูชาขอพรในสิ่งต่าง ๆ จะประสบความสำเร็จ มีความเจริญรุ่งเรือง สมความปรารถนาทุกประการ เมื่อประสบผลสำเร็จจะนำน้ำเขียว น้ำแดง หรือไม่ก็ละครมาถวาย
งานประจำปีปิดทองพระพุทธมงคลตะวันตกหรือหลวงพ่อหมดกรรมจะจัดขึ้นในวันแรม 14-15ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี
โดยสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอผักไห่