งานประเพณีขึ้นเดือนเก้า พระนอนเจ้าที่รวมใจ๋
ลวดลายตุงสลุงน้ำวาม มะขามแก้วของฝากมีชื่อ
เลื่องลือไกลบอกไฟดอก บ้านพระนอน
นี่คือคำขวัญของชุมชนบ้านพระนอน ชุมชนหนึ่งในจังหวัดแพร่ ซึ่งมีอายุยาวนานนับหลายร้อยปี สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของวัดพระนอนแห่งนี้ คือ การเป็นแหล่งผลิตบอกไฟดอก ซึ่งคนภาคเหนือ เรียก บอกไฟดอก ส่วนคนภาคกลาง เรียก ดอกไม้เพลิง หรือ ดอกไม้ไฟ เป็นที่เข้าใจกันทั่วว่า คือ สิ่งประเด็น ที่ทำให้เกิดประกายไฟ พุ่งพวยออกจากปากกระบอกไม้ไผ่ขึ้นสู่ท้องฟ้า เสมือนหนึ่งพุมดอกไม้ ที่มีแสงเปล่งประกาย ระยิบระยับ ทำให้เกิดมิติหนึ่งในความเชื่อ ว่า เป็นการบูชาพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามแต่โอกาสนั้น เช่น จุดเพื่อบูชาพระอุโบสถ พระวิหาร บูชาพระพุทธรูป บูชาแม่น้ำคงคา เป็นต้น
จากคัมภีร์ล้านนา บันทึกว่า ในสมัยอาณาจักรล้านนาไทย พุทธศักราช ๒๐๖๑ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช (พระเมืองแก้ว) แห่งราชวงศ์มังราย (ครองเมืองเชียงใหม่) เทศกาลเดือนยี่เป็ง เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่มาก เริ่มขึ้น ๑ ค่ำเดือนยี่ ชาวประชาราษฎร์ต่างพากันไปบูชาพระเจ้าในอารามข่วงแก้วทั้งหลาย มากมายไปด้วยผู้คนหนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ ต่างรื่นเริงและม่วนชื่อ มีมหรสพสมโภชครึกครื้น เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง วัดวาอารามจะจัดเตรียมสถานที่ในวัด ปัดกวาดพระวิหารและศาลาให้สะอาดงามตา จัดทำราชวัตรรอบวิหาร เจดีย์ ทำซุ้มประตูที่หน้าวัด ทำโคมแขวน โคมลอย ปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า ทั้งกลางวัน กลางคืน ทำบอกไฟหลายชนิด ทั้งบอกไฟดอก บอกไฟดาว (พลุ) บอกไฟเทียน บอกไฟช้างร้อง บอกไฟจักจั่น บอกไฟท้องตั๋น บอกไฟขี้หนู เพื่อจุดในวันยี่เป็ง โดยอาศัยตำราทางเคมีแต่โบราณ เรียกว่า ตำราเล่นแร่หรือตำราปะตา (ปรอท) จะเห็นว่า ในยุคสมัยนั้น มีการพัฒนาเรื่องบอกไฟมากมายหลายชนิด แต่ก่อนหน้านั้น เชื่อว่า น่าจะมีการเล่นกับไฟในรูปแบบต่างๆ แล้ว เช่น ในยุคสุโขทัย ก็มีการจุดเทียนเล่นไฟพะเนียง ในงานประเพณีลอยกระทง หรือย้อนไปในยุคหริภุญชัยกว่า ๑,๐๐๐ ปีก่อน ก็มีการเล่นไฟในรูปแบบของการลอยโขมดหรือลอยไฟ ไปตามแม่น้ำ เพื่อระลึกถึงญาติพี่น้องที่อยู่ ณ แดนไกล โดยมีธูปเทียน เสื้อผ้า ของใช้ ใส่ลอยไปด้วย
สำหรับในเรื่องของตำนานการจุดบอกไฟดอกของวัดพระนอน ได้กล่าวถึง พญาชัยชนะสงคราม กับ ชายา นามว่า นางพิมพา (อู่ทอง) เป็นผู้สร้างวัดพระนอนขึ้นในปีจุลศักราช ๒๓๖ หรือพุทธศักราช ๑๔๑๗ หลังจากที่ได้สร้างวัดแห่งนี้สำเร็จลงก็ได้จัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ใต้) ซึ่งได้พบจารึกในแผ่นทองคำ เป็นตัวหนังสือเมือง ว่า “วัดพระนอนนี้ ให้มีการนมัสการเดือนเก้าเหนือขึ้นสิบห้าค่ำ” ในงานนมัสการนี้มีพิธีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การจุดบอกไฟดอก เพื่อบูชาพระเจ้านอน โดยชาวบ้านในชุมชนพระนอน และชาวบ้านละแวกใกล้เคียง ร่วมกันจุดบอกไฟดอกตามแต่กำลังศรัทธา ซึ่งแต่ละบ้านแต่ละแห่งก็มีตำราในการทำบอกไฟดอกต่างๆ กันไป ต่อมาได้มีการพัฒนาการจุดบอกไฟดอก เพื่อวัดฝีมือในการทำบอกไฟดอกโดยมีการประชันความสง่างาม ความสว่างไสว และพลังแรงขับเผ่า (ดินชนวน) จนเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เป็นงานประจำปีของชาวบ้านพระนอนและพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองสมโภช มีการตกแต่งวัดให้ดูสวยงาม มีพิธีกรรมทางศาสนา งานรื่นเริงมหรสพ และที่ขาดไม่ได้คือ การจุดบอกไฟดอก ตลอดทั้ง ๓ คืนของงาน คือ ๑๓ –๑๕ ค่ำ เดือน ๙ (เหนือ) ทั้งการประชันแข่งขันและจุดถวายเป็นพุทธบูชาเป็นที่เอิกเกริกยิ่งนัก แม้กาลเวลาจะผ่านล่วงมา ๑,๑๓๔ ปีแล้ว ชาวบ้านพระนอนยังร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานงานประเพณีนี้ให้ดำรงคงไว้มิเสื่อมคลาย โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สร้างสรรค์ความสามัคคีเป็นกำลังแห่งศรัทธาอย่างแท้จริง
และในเทศกาลลอยกระทง หรือประเพณียี่เป็ง เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของล้านนา นอกจากมีการลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ แล้วก็ช่วงหนึ่งที่นิยมในการประชันแข่งขันการจุดบอกไฟดอก อันเป็นเกมและกีฬาของลูกผู้ชาย เพื่อวัดฝีมือ วัดศักดิ์ศรี ชิงความเป็นหนึ่งในตำราการทำบอกไฟดอกของแต่ละคน มีการคิดค้นสูตร ส่วนผสม ที่จะทำให้บอกไฟดอกของตนมีความแรง ความสว่าง ความสูง รูปทรงสวยงาม เหนือคู่แข่ง โดยมีคณะกรรมการตัดสินเป็นผู้ชี้ขาด สำหรับในปีนี้ เทศกาลยี่เป็ง หรืองานลอยกระทง ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐ –๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ โดยใช้ชื่องานว่า “จุดถางประตีบตีนกา บูชาแม่กาเผือก”
นอกจากมีกิจกรรมต่างๆ มากมายแล้ว การแข่งขันบอกไฟดอก ก็ได้รับความสนใจ จากคณะบอกไฟดอกทั่วภาคเหนือ เข้าร่วมการประชันการแข่งขันกัน เข้ากับบรรยากาศในคืน วันลอยกระทงได้อย่างลงตัว โดยคณะผู้เข้าแข่งขันบอกไฟดอก จะมีกองเชียร์ มีการตีกลอง ซิ้งม้องมองเซิง ฟังแล้วเร้าใจ ชวนให้ฟ้อนรำยิ่งนัก แม้แต่ผู้คนที่ผ่านไปมา ยังบริเวณที่ประกวดประชันบอกไฟดอก ต้องแวะหยุดชมเป็นที่ตื่นตาตื่นใจ มีทั้งเสียงแผดดังจากการพุ่งพวยของดินชนวน ชวนให้สงสัย จนแทบจะลืมไปลอยกระทง ทั้ง ๆ ที่เดินไปอีกไม่กี่ก้าวจะถึงแม่น้ำยม การแข่งขันบอกไฟดอกให้เทศกาลลอยกระทงของเมืองแพร่ นี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนโดยทั่วไป ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ชาย-หญิง อันเป็นการส่งเสริมและสร้างกำลังใจให้กับผู้ร่วมแข่งขัน และคณะผู้จัดแข่งขัน จึงเชื่อว่าเป็นการร่วมกันอนุรักษ์และสืบสารวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามอีกรูปแบบหนึ่ง ให้อยู่คู่กับเมืองแพร่ ต่อไป