การทำบุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีหนึ่งในเดือนสิบสอง นิยมทำกันในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้า หรือเรียกว่า บุญข้าวประดับดิน เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ ญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย นำไปวางไว้ตามต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้ หรือวางไว้ตามพื้นดิน เรียกว่า “ห่อข้าวน้อย” พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตร นำภัตราหารไปถวายแด่พระภิกษุสามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายโดยกรวดน้ำไปให้ด้วย
คุณบุญเลิศ ดำริ กล่าวว่าคนที่สามารถกล่าวบทนำ คือคุณป้าสมเกลี้ยง ดอนมอญ ท่านเป็นปราชญ์ชาวบ้านคนหนึ่งที่สามารถประกอบพิธีกรรมข้าวประดับดินได้ย่างดี สืบทอดมาจาก ปู่ย่า ตายาย
วิธีดำเนินการ พอถึงวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือนเก้า ชาวบ้านเตรียมอาหาร มีทั้งคาวหวาน ได้แก่ เนื้อ ปลา เผือก มัน ข้าวต้ม ขนม น้ำอ้อย น้ำตาล ผลไม้ และหมากพลู บุหรี่ไว้ให้พร้อม เพื่อจัดทำเลี้ยงกันในครอบครัวบ้าง และทำบุญถวายพระภิกษุสามเณรวัดแสงสว่าง ตำบลโคกไทยบ้าง ส่วนสำหรับอุทิศให้ญาติที่ตาย ใช้ห่อด้วยใบตองกล้วย อาหารคาวห่อหนึ่ง อาหารหวานห่อหนึ่ง และหมากพลูบุหรี่ห่อหนึ่ง เย็บหุ้มปลาย แต่บางคนใส่ใบตองที่เย็บเป็นกระทงก็มี หรือหากไม่แยกกัน อาจเอาอาหารทั้งคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ ใส่ในห่อหรือกระทงเดียวกันก็ได้ สิ่งของเหล่านี้จะมากน้อยแล้วแต่ศรัทธา
พอเช้าวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้า ตอนเช้ามืด คือ เวลาประมาณ ๔ ถึง ๖ นาฬิกา ชาวบ้านก็นำอาหาร หมากพลู บุหรี่ที่ห่อใส่กระทงแล้วไปวางไว้ตามพื้นดิน วางแจกไว้ตามบริเวณโบสถ์ ต้นโพธิ์ ศาลา ตามกิ่งไม้ หรือต้นไม้ใหญ่ๆในบริเวณวัด พร้อมกับจุดเทียนไว้ และบอกล่าวแก่เปรตให้มารับเอาสิ่งของและผลบุญด้วย บางหมู่บ้านจะเอาอาหารที่อุทิศให้แก่ผู้ตายหลังทำพิธีแล้วก็ฝังไว้ในดินก็มี
การวางอาหารไว้ตามพื้นดินหรือตามที่ต่างๆ เพื่อให้พวกเปรตมารับเอาของอุทิศไปได้ง่าย โดยไม่ต้องมีพิธีรีตอง เสร็จพิธีอุทิศผลบุญส่งไปให้เปรตแล้ว ชาวบ้านก็จะนำอาหารที่เตรียมไว้อีกส่วนหนึ่งไปตักบาตรและถวายทานแด่พระภิกษุ สามเณร มีการสมาทานศีล ฟังเทศน์ และกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับต่อไป การทำบุญข้าวประดับดิน บางท้องถิ่นมีการห่ออาหารคาวหวาน หมาก พลู บุหรี่ ไปวางไว้ตามที่ต่างๆ