ประวัติมัสยิดดารุ้ลมุตตากีน (บางสะพานน้อย)
จากคำบอกเล่า ของผู้สูงอายุหลาย ๆ ท่าน ที่ไม่ว่าจะอยู่ใน หมู่ที่ 5 ต.ปากแพรก อ. บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของมัสยิดหรือตำบลใกล้เคียง เช่น หมู่ที่ 9 ต้นทองหลาง หรือสวนหลวง ตำบลพงศ์ประศาสน์ อ.บางสะพานใหญ่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ทุกท่านจะบอกเหมือนกันคือ มัสยิดบางสะพานน้อย เป็นมัสยิดแห่งแรก (หลังแรก) ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2518
ซึ่งผู้ที่สร้างมัสยิดบางสะพานน้อย (หลังแรก) นั้นนำโดย โต๊ะกู และพี่น้องมุสลิมในหมู่บ้านซึ่งขณะนั้นมีไม่กี่ครอบครัว โดยไปตัดไม้จากในป่ามาสร้างโดยเอาช้างลากมา สำหรับมัสยิดบางสะพานน้อย ซึ่งนำโดยโต๊ะกูเป็นผู้สร้างนั้น ใช้เวลาสร้างนานเท่าไรไม่มีใครรู้ รู้เพียงแค่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังเท่านั้น โดยสร้างแบบเรือนสมัยโบราณ หรือแบบบาแลชั้นเดียว ยกพื้นสูง ปล่อยโล่งไม่มีห้อง ไม่มีฝากั้น มีเพียงไม้สักกันสูง จากพื้นมัสยิดขึ้นมาโดยรอบประมาณ 1 ศอก เพื่อกันตกลงมาเท่านั้น ทางด้านกิบลัต (ตะวันตก) มีการต่อเป็นมุขออกมาจากตัวมัสยิดเล็กน้อย เพื่อใช้เป็นที่สำหรับอีหม่ามนำละหมาด และเป็นที่สำหรับอ่านคุตบะฮ์ และด้านข้างมัสยิดทางด้านทิศใต้ได้ต่อเป็นระเบียงออกไป เพื่อเป็นที่สำหรับทำอาหารในวันสำคัญของศาสนา การเข้าไม้หรือการติดตั้งจำพวก เสา –จัณฑัณ –อกไก่ –ขื่อ –แปร –ลอด และอื่น ๆ นั้น เขาใช้ไม้ทำลูกสลักแทนตะปู หรือใช้ไม้สลักกันเองในตัว ดังนั้นมัสยิดหลังนี้ทั้งหลังจึงไม่ได้ใช้ตะปูตอกเลย ยกเว้นหลังคา ส่วนหลังคาใช้มุงด้วยสังกะสีทั้งหมด ส่วนมัสยิดนั้นสร้างอยู่ในเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ เป็นที่ดินที่พี่น้องมุสลิมในสมัยนั้นมอบให้ อยู่ติดกับคลองบางสะพานน้อย
อีหม่ามคนแรกก็คือ โต๊ะกู ซึ่งประวัติของโต๊ะกูนั้นไม่มีผู้ใดรู้แน่ชัดว่าท่านนั้นมาจากที่ใด
บางคนว่าท่านมาจากทางอยุธยา บางคนว่าท่านมาจากทางปัตตานี–กลันตัน ดังนั้นจึงไม่ทราบที่มาของท่านที่แน่นอน
โต๊ะกูนั้นเป็นต้นตระกูลโชงโลงเลยทีเดียว และท่านเป็นบุคคลที่ค่อนข้างจะมีความรู้ทางด้านศาสนาพอสมควรจึงได้ถูกเลือกให้เป็นผู้นำ (อิหม่าม) ในสมัยนั้นเรื่อยมา จนท่านเสียชีวิต เมื่ออิหม่ามโต๊ะกูเสียชีวิตลง บุคคลต่อมาที่ดำรงตำแหน่งอิหม่ามคนที่ 2 ก็คือ โต๊ะเฮง (ถ้าผู้บอกเล่าจำไม่ผิด) ณ มัสยิดหลังเดิม เมื่อโต๊ะเฮงเสียชีวิต โต๊ะมาน หรือละมานิ มัตซา ก็ได้รับตำแหน่งอิหม่ามสืบต่อมา ซึ่งเป็นอิหม่ามคนที่ 3 ของมัสยิดบางสะพานน้อยหลังเดิมและเมื่อท่านโต๊ะมานหรือลานเสียชีวิตลง ฮัจยีสุไลมาน เลาะห์ชำซู ก็ได้ถูกเลือกให้มารับหน้าที่ อิหม่ามคนที่ 4 แทน โต๊ะมานหรือละมานที่เสียไป และช่วงระยะเวลาที่ฮัจยีสุไลมาน ดำรงตำแหน่งอิหม่ามนี้เองที่มีการเปลี่ยนแปลง ได้เปลี่ยนสถานที่ตั้งมัสยิดใหม่โดยมาตั้งอยู่บนที่ดินของโต๊ะใหม่ ซึ่งท่านโต๊ะใหม่วา-กาฟ (ยก) ให้มัสยิดจำนวน 2 ไร่ โดยรื้อถอนมัสยิดหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมมากแล้วในขณะนั้นมาปลูกและสร้างแบบครึ่งไม้ครึ่งปูน หลังไม่ใหญ่มาก เริ่มสร้าง พ.ศ. 2505 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2513 โดยใช้วัสดุหลังเก่ามาใช้เสียเป็นส่วนมาก เช่น เสา เครื่องบน สังกะสี และอื่นๆ ส่วนของที่เหลือ เช่น เครื่องบนบางส่วน เสาบางส่วน พื้นทั้งหมด สังกะสีนั้นก็ได้เอามาสร้างที่ทำอาหารและจัดเลี้ยงอยู่ข้าง ๆ มัสยิด และท่านฮัจยีสุไลมาน ก็ได้ทำหน้าที่อิหม่ามมาอีกระยะหนึ่ง แล้วท่านก็ได้ลาออกจากการเป็นอิหม่าม หลังจากท่านอิหม่าม ฮัจยีสุไลมานลาออกแล้วก็ได้มีการเลือกอีหม่ามขึ้นมาใหม่ โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือก (แต่งตั้ง) ให้ดำรงตำแหน่ง
อีหม่ามคนต่อมาคือนายประคอง วาอ่วม ท่านได้ดำรงตำแหน่งอีหม่าม ท่านที่ 5 ของมัสยิดดารุ้ลมุตตากีน บางสะพานน้อย แต่ท่านอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นานเท่าไรท่านก็ขอลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว ดังนั้นสัปปุรุษทั้งหมดจึงรวมตัวกันแล้วเดินทางไปยังบ้านฮัจยีสุไลมาน เลาะซำซู เพื่อขอร้องท่านให้กลับมาเป็นอีหม่ามมัสยิดดารุ้ลมุตตากีนอย่างเดิม เพราะขณะนี้มัสยิดขาดอีหม่าม ไม่มีผู้นำ ท่านฮัจยีสุไลมานจึงได้กลับมาเป็นอีหม่ามมัสยิดดารุ้ลมุตตากีนอีกครั้งหนึ่งจนกระทั้งท่านได้เสียชีวิต ต่อมาคณะกรรมการก็ได้แต่งตั้ง นายมะแอ ศุภสมัย ขึ้นเป็นอีหม่ามมัสยิดดารุ้ลมุตตากีน ท่านที่ 6 ท่านทำหน้าที่อยู่นานหลายปี ครั้งที่อีหม่ามมะแอเป็นอีหม่ามนั้นก็ได้มีการปรึกษาหารือกับคณะกรรมการมัสยิดและสัปบุรุษว่าจะสร้างมัสยิดขึ้นมาใหม่ แทนหลังเดิมที่ใช้อยู่นั้น (สร้างครั้งที่ 2) ทุกคนเห็นด้วยจึงได้ก่อสร้างมัสยิดขึ้นมาใหม่ พ.ศ. 2542 (หลังปัจจุบัน) วางศิลาฤกษ์ วันที่ 26 สิงหาคม 2542 แทนมัสยิดหลังเดิมที่สร้างครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดการชำรุดทรุดโทรม และมีขนาดเล็ก โดยมัสยิดที่สร้างครั้งที่ 2 นั้นก็นำมาใช้สอนอัลกุรอ่าน และฟัรดูอีน พึ่งมารื้อเมื่อ พ.ศ. 2551 โดยรื้อพร้อมกับบาแลสำหรับทำอาหารและจัดเลี้ยง ครั้นเมื่ออีหม่ามมะแอเสียชีวิต ก็ได้มีการแต่งตั้งให้ นายลับ งามดี เป็นอีหม่ามคนที่ 7 ของมัสยิดดารุ้ลมุตตากีน บางสะพานน้อย ปัจจุบันมีนายชูศักดิ์ ศรีเจียม เป็นอีหม่าม, นายมนูรัตน์ ศรีเจียม เป็นคอเต็บ และนายไซนี งามดี เป็นบิหลั่น มีครัวเรือน 55 ครัวเรือน มีศาสนิก 279 คน เป็นชาย 131 คน เป็นหญิง 148 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564)
ดังนั้นจึงนับได้ว่ามัสยิดดารุ้ลมุตตากีน บางสะพานน้อย มีอายุเก่าแก่มากเลยทีเดียวก็ว่าได้ จากการบอกเล่า จากจำนวนคนที่ได้รับตำแหน่งอีหม่าม จากการยอมรับของคนเก่า ๆ ทุกคน ว่ามัสยิดดารุ้ลมุลตากีนนั้นเป็นมัสยิดหลังแรกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และถ้านับอายุก็คงไม่ต่ำกว่า 315 ปีแน่นอนหลักฐานที่บอกว่าไม่ต่ำกว่า 315 ปี ก็คือ สังกะสีที่หนามาก ไม้สัก ตะปู ของทั้งหมดนี้เป็นรื้อมาจากมัสยิด หลังที่ 1 และยังอยู่ทุกวันนี้
ส่วนกุโบร์ (สุสาน) ที่มัสยิดดารุ้ลมุตตากีนนี้มีกุโบร์ (สุสาน) สองแห่งด้วยกัน คือ แห่งที่ 1 อยู่อีกฝั่งคลองตรงข้ามกับมัสยิดหลังปัจจุบัน ซึ่งเป็นกูโบร์ (สุสาน) เก่าแก่ตั้งแต่มัสยิดหลังที่ 1 เลยทีเดียว ปัจจุบันยังมีญาติ ๆ ของมายัต (ศพ ) ไปเยี่ยมกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะวันตรุษอีดิ้ลฟิตรีและวันตรุษอีดิ้ลอัฏฮา และกุโบร์หลังที่ 2 นั้นอยู่ติดกับมัสยิดหลังปัจจุบันนี้