หมากสุ่ม หมากเบ็ง
หมาก
หมากเป็นพืชที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีบ้าน ความเป็นอยู่ของคนไทย ในอดีตคนไทยนิยมกินหมากตั้งแต่เจ้านายถึงชาวบ้านธรรมดา มักมีเชี่ยนหมากไว้รับแขกผู้มาเยี่ยมเยือน ปีใดเกิดภาวะแห้งแล้ง มีผลกระทบเศรษฐกิจ สภาวการณ์เช่นนี้ เรียกว่า ข้าวยากหมากแพง ปัจจุบันคนนิยมกินหมากน้อยลง ความสำคัญของวัฒนธรรมปัจจุบันหมากเปลี่ยนเข้าไปในแง่อุตสาหกรรมหลายชนิด มีการส่งออกจำหน่ายต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท หมากจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ความสัมพันธ์ของหมากกับเครื่องสักการะล้านนา ชาวบ้านถือว่าเป็นของสูง ใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น ครัวทาน หมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ต้นดอก ฯลฯ
หมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้งใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและวิถีชีวิตเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน มีการทำมาตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว ใช้สำหรับการดำหัวเจ้านายฝ่ายเหนือ พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ใช้หมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ในงานอุปสมบท (เป็กตุ๊) บวชเณร (ปอยน้อย) ใช้เป็นเครื่องสักการบูชาระลึกถึงความดีของบิดามารดา ครูอาจารย์ หมากสุ่ม คือ การนำผลหมากที่ผ่าซึกแล้วเชียนร้อยด้วยปอหรือด้ายผูกไว้เป็นพวงตากแห้งเก็บไว้กิน ซึ่งคนทางเหนือเรียกว่า “หมากไหม” แล้วนำมาปิดคลุมโครงไม้ หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นต้น
หมากเบ็ง คือ มีลักษณะเดียวกับหมากสุ่ม แต่ใช้ผลหมากดิบ หรือหมากสุกทั้งลุกแทนมีจำนวน 24 ลูก ผูกติดตรึงไว้กับโครงไม้ หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นพุ่ม ลักษณะผูกโยงตรึงกับที่ คนเหนือเรียกว่า “เบ็ง” จึงเป็นที่มาของชื่อต้นพุ่มชนิดนี้