ศาลตาปู่ ตั้งอยู่บริเวณ หมู่ ๖(ข้างวัดใหญ่โพหัก) ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เป็นสถานที่เคารพนับถือของประชาชนชาวตำบลโพหักตลอดมา จากการบอกเล่าของผู้สูงอายุได้ความว่า ตาปู่นั้น เป็นที่เคารพนับถือของชาวโพหักมานานแล้ว จะมีมาตั้งแต่สมัยใดไม่มีใครทราบ เมื่อเกิดมาก็พบว่า ปู่ ย่า ตา ทวด มีตาปู่เป็นที่เคารพสักการะกันอยู่ก่อนแล้ว มีการเล่าประวัคิของท่าน (เวลาประทับทรง) ว่า ตาปู่เป็นบรรพชนของคนโพหัก เมื่อยังมีชีวิตอยู่เคยไปรบทัพจับศึก แต่เสียที่ข้าศึก จนขาพิการไปข้างหนึ่ง เวลาประทับทรงอาการขาเสียจะเห็นได้ชัด เมื่อท่านได้เสียชีวิตลงจิตวิญญาณของท่านได้เวียนว่ายอยู่เพื่อช่วยเหลือชาวโพหัก
ชาวโพหัก เมื่อมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประกอบอาชีพ หรือโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ จะไปบนขอให้ตาปู่ช่วยเหลือ และเมื่อประสบผลสำเร็จก็จะแก้บนด้วยสิ่งของต่าง ๆ แต่ที่นิยมถวายกัน คือ หัวหมู บายศรี เป็ด ไก่ เหล้าโรง และหนังตะลุง สำหรับตัวศาลตาปู่นั้น เดิมปลูกอยู่ในป่าละเมาะทางด้านทิศเหนือของวัดใหญ่โพหัก เป็นเรือนไม้ธรรมดา ปลูกลวก ๆ และมีการซ่อมแซมกันทุกปี ในวันสมโภชตาปู่ คือ วันสุดท้ายของสงกรานต์หลังจากก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระเรียบร้อยแล้ว จะช่วยกันซ่อมแซมและทำความสะอาดศาลตาปู่ ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ จึงได้มีการปลูกศาลตาปู่ถาวรขึ้น โดยนายไซ แซ่อึ้ง เป็นผู้สร้างศาลถาวรถวายตาปู่ เป็นเรือนไม้สักหลังย่อม ๆ กว้าง ๔ ศอก ยาว ๘ ศอก มุงสังกะสี แบ่งเป็น ๒ ห้อง ต่างระดับกัน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เกิดเพลิงไหม้ศาลตาปู่ เนื่องมีคนจุดธูปทิ้งไว้ ต่อมานายน้อม สังข์เขียว ได้ร่วมกับชาวบ้านตำบลโพหักสร้างศาลตาปู่ขึ้นมาใหม่ ที่เห็นในปัจจุบันนี้ และได้มีการจัดงานสมโภชตาปู่เป็นประจำทุกปี โดยวันแรกของวันสงกรานต์จะมีการแห่ดอกไม้ตาปู่ ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เมื่อขบวนแห่ผ่านหมู่บ้านใด จะพากันสรงน้ำดอกไม้ตาปู่ จากนั้นจะแห่กลับไปที่ศาลตาปู่ เพื่อทำการสมโภชในวันสุดท้ายของสงกรานต์