เริ่มแต่วันเข้าพรรษาเป็นต้นไป และในช่วงเวลาเข้าพรรษา ชาวไทยรามัญ(มอญ) อำเภอสังขละบุรี จะมีประเพณีหนึ่งที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ซึ่ง จะตักบาตรกันในช่วงเข้าพรรษา ทุกวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือแรม ๑๕ ค่ำ ที่เป็นวันพระใหญ่ ในเวลาประมาณ ๑๔.๓๐ น. ชาวไทยรามัญจะนำดอกไม้ไปตักบาตรที่วัดวังก์วิเวการาม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ทุกวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือแรม ๑๕ ค่ำ ภาพที่เห็นจนเจนตาก็คือ ในช่วงเช้าชาวไทยรามัญจะแต่งกายด้วยชุดประจำถิ่น ผู้หญิงสวมผ้าถุงหลากสียาวกรอมเท้า ใส่เสื้อรัดรูปแขนยาวสีขาว มีผ้าสไบพาดบ่า บนศีรษะมีถาดสำรับกับข้าวทั้งคาวและหวานทูนอยู่บนหัว ผู้ชายจะนุ่งผ้าโสร่งสีแดงตามหมากรุกเล็ก ๆ ใส่เสื้อแขนยาวสีขาว หรือเสื้อพื้นเมือง หอบลูกจูงหลานเพื่อไปทำบุญที่วัด แม้กระทั่งหนุ่มสาวก็ยังมีให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก และในช่วงบ่ายสองโมงกว่า ๆ ทุกคนจะไปรวมกันที่โถงยาวทางเข้าอุโบสถตลอดสองข้างทางเดิน ทุกคนจะเตรียมดอกไม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นดอกเข้าพรรษาซึ่งเป็นดอกไม้พื้นเมือง ดอกกล้วยไม้ ดอกกุหลาบ พร้อมธูปเทียนใส่ถาด เตรียมตัวตักบาตร พอถึงเวลา พระภิกษุจะเดินลงมาจากบันไดอีกด้าน โดยมีอุบาสกเดินนำหน้า พระภิกษุจะถือเปลผ้าจีวรกันเป็นคู่ ๆ เดินเรียงแถวผ่านชาวบ้านที่รอตักบาตร เมื่อพระภิกษุเดินผ่านต่างจะนำดอกไม้ธูปเทียนถวายลงในเปลผ้า พอเต็มเปลจนพระภิกษุหามกันไม่ไหวก็จะมีลูกศิษย์วัดคอยมาถ่ายดอกไม้ออกไป เพื่อให้ญาติโยมได้ใส่ต่อไป ตลอดทางพระภิกษุจะให้ศีลให้พร จากนั้น พระภิกษุจะนำดอกไม้ธูปเทียนที่ได้รับบิณฑบาตรมาไปถวายพระประธานในอุโบสถต่อไป ประเพณีตักบาตรดอกไม้ของไทยรามัญสังขละบุรี ยังคงมีปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง เป็นประเพณีที่เกิดจากศรัทธาโดยแท้จริง แม้ฝนภายภายนอกจะตกอย่างหนัก แต่ภายในอาคารโถงทางเดิน ชาวมอญ ทั้งชายหญิง คนแก่ เด็ก คนหนุ่มสาว ทุกคนยังคงนั่งคอยเพื่อรอตักบาตร ต่างมาชุมนุมกันเนืองแน่นยาว ตลอดเส้นทางเดิน